เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 1 เม.ย. นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เผยข้อมูลการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศ พบว่าปริมาณ PM2.5 เกินค่ามาตรฐานใน ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จ.เชียงราย จ.น่าน จ.แม่ฮ่องสอน จ.พะเยา จ.เชียงใหม่ จ.ลำพูน จ.ลำปาง จ.แพร่ จ.อุตรดิตถ์ จ.สุโขทัย จ.พิษณุโลก จ.ตาก จ.กำแพงเพชร จ.พิจิตร จ.เพชรบูรณ์ จ.นครสวรรค์ จ.อุทัยธานี จ.สุพรรณบุรี จ.บึงกาฬ จ.เลย จ.นครพนม จ.สกลนคร จ.มุกดาหาร จ.กาฬสินธุ์ และ จ.ร้อยเอ็ด
ภาคเหนือ ตรวจพบค่าระหว่าง 57-324 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) (ค่ามาตรฐาน 50 มคก./ลบ.ม.) เกินมาตรฐานสูงสุดที่ ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ค่าฝุ่น 324 มคก./ลบ.ม. นอกจากนี้ ยังเกินที่บริเวณ ต.ช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่, ต.ศรีภูมิ อ.เมือง จ.เชียงใหม่, รพ.เทพรัตนฯ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่, ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่, ต.เวียง อ.เมือง จ.เชียงราย, ต.พระบาท อ.เมือง จ.ลำปา, ต.สบป้าด อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง, ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง, ต.แม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง, ต.ปากน้ำโพ อ.เมือง จ.นครสวรรค์ ต.จองคำ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน, ต.ในเวียง อ.เมือง จ.น่าน, ต.บ้านกลาง อ.เมือง จ.ลำพูน, ต.นาจักร อ.เมือง จ.แพร่, ต.บ้านต๋อม อ.เมือง จ.พะเยา, ต.ห้วยโก๋น อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน, ต.แม่ปะ อ.แม่สอด จ.ตาก, ต.ในเมือง อ.เมือง จ.พิษณุโลก, ต.ในเมือง อ.เมือง จ.กำแพงเพชร, ต.อุทัยใหม่ อ.เมือง จ.อุทัยธานี, ต.ท่าหลวง อ.เมือง จ.พิจิตร, ต.ธานี อ.เมือง จ.สุโขทัย, ต.ท่าอิฐ อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์, ต.ในเมือง อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์
นายอรรถพลระบุว่า สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจีสด้า รายงานผลการเกิดจุดความร้อนจากดาวเทียม Suomi NPP ระบบ VIIRS บันทึกข้อมูลในวานนี้ (31 มี.ค.) สรุปจุดความร้อนรายประเทศ พบมากที่สุด สปป.ลาว 5,183 จุด เมียนมา 5,115 จุด กัมพูชา 1,554 จุด เวียดนาม 1,415 จุด และไทย 1,278 จุด ส่วนจุดความร้อน 17 จังหวัดภาคเหนือรายวัน รวม 834 จุด พบมากที่สุด เชียงใหม่ 195 จุด จ.แม่ฮ่องสอน 104 จุด และอุตรดิตถ์ 79 จุด อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบจุดความร้อน 17 จังหวัดภาคเหนือสะสม วันที่ 1 ม.ค.-ปัจจุบัน ในปี 2563 จำนวน 102,182 จุด และปี 2564 จำนวน 55,987 จุด ถือว่าจุดความร้อนลดลงร้อยละ 45
ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตรวจวัดค่าฝุ่นได้ 32-102 มคก./ลบ.ม. ภาคกลางและตะวันตก ตรวจวัดได้ 12-58 มคก./ลบ.ม. ภาคตะวันออก ตรวจวัดได้ 10-21 มคก./ลบ.ม. ภาคใต้ ตรวจวัดได้ 9-19 มคก./ลบ.ม. กรุงเทพฯและปริมณฑล โดยสถานีตรวจวัดของ คพ. ร่วมกับ กทม. ตรวจวัดได้ 14-45 มคก./ลบ.ม.