สถานการณ์ภัยแล้งปีนี้เกิดขึ้นเร็วกว่าทุกปี กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ปรับแผนปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือประชาชนบรรเทาความเดือดร้อน หลังจากมีประชาชน จาก 5 จังหวัด พื้นที่ทำการเกษตร จาก จ.พิษณุโลก สุโขทัย พิจิตร กำแพงเพชรและเพชรบูรณ์ ร้องขอให้ทำฝนหลวง ช่วง 20 วัน ขึ้นบินทำฝนหลวงแล้ว 52 เที่ยวบิน มีฝนตกตามเป้าหมาย 19 วัน
นางสาวอรรจนี สมศรี รักษาราชการแทนผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือตอนล่าง จ.พิษณุโลก เปิดเผยว่า ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือตอนล่าง ได้เริ่มตั้งหน่วยปฏิบัติการเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา เนื่องจากปีนี้ปัญหาภัยแล้งเกิดขึ้นเร็วกว่าทุกปีที่ผ่านมา กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จึงปรับแผนปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้เร็วขึ้น ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร เติมน้ำต้นทุนให้เขื่อนเก็บกักน้ำ บรรเทายับยั้งความรุนแรงของลูกเห็บจากพายุฤดูร้อน โดย เมื่อวันที่ 28 มีนาคม มีภารกิจฝนหลวงเมฆอุ่น ช่วยพื้นที่การเกษตร จ.สุโขทัย จ.อุตรดิตถ์ จ.กำแพงเพชร พื้นที่ประสบปัญหาหมอกควันและไฟป่า จ.แพร่ พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค จ.พิษณุโลก และพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนสิริกิติ์ ภารกิจฝนหลวงเมฆเย็น พื้นที่การเกษตร จ.กำแพงเพชร” ผลการปฏิบัติการฝนหลวง 20 วัน ที่ผ่านมา มีฝนตกทั้งหมด 19 วัน คิดเป็นร้อยละ 95 ขึ้นปฏิบัติงานรวม 52 เที่ยวบิน
นางสาวอรรจนี กล่าวว่า สำหรับการขึ้นบินในช่วงนี้จะเน้นการแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าในพื้นที่ จ.แพร่ ควบคู่กับการเพิ่มปริมาณน้ำกักเก็บเพื่อการอุปโภค-บริโภค หลังมีเกษตรกรใน อ.ชาติตระการ นครไทยและวัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก รวมถึง จ.สุโขทัย พิจิตร และ เพชรบูรณ์ ร้องขอให้ทำฝนหลวง และได้เตรียมเครื่องบินแบบ Super King Air เพื่อปฏิบัติการยังยั้งลูกเห็บ โดยจะใช้พลุซิลเวอร์ไอโอได ยิงเข้าไปในกลุ่มเมฆ เป็นการทำแบบฝนหลวงเมฆเย็นในระดับความสูงประมาณ 20,000 ฟุต เพื่อลดการจับตัวของน้ำก่อนที่จะเป็นน้ำแข็งก้อนใหญ่ โดยปฏิบัติการจะเน้นพื้นที่ในเขตเมืองเพื่อลดความรุนแรง สร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือนประชาชน ล่าสุดช่วงบ่ายวันนี้ได้รับการร้องขอ จากพื้นที่ จ.หนองบัวลำภู สกลนคร ขอนแก่น และจ.นครพนม ให้ไปช่วยบินโจมตีทำลายลูกเห็บ เพื่อลดความรุนแรงจากพายุฤดูร้อน
โดยศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือตอนล่าง จ.พิษณุโลก รับผิดชอบในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง จำนวน 8 จังหวัด ได้แก่ จ.น่าน จ.แพร่ จ.อุตรดิตถ์ จ.สุโขทัย จ.กำแพงเพชร จ.พิษณุโลก จ.เพชรบูรณ์ และ จ.พิจิตร ใช้อากาศยานทั้งสิ้น 4 ลำ ได้แก่ Casa จำนวน 2 ลำ และ Super King Air จำนวน 2 ลำ ภารกิจเพื่อช่วยเหลือพื้นที่เกษตรและพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง บรรเทาและยับยั้ง ความรุนแรงของพายุลูกเห็บ บรรเทาปัญหาหมอกควันและไฟป่า รวมทั้งเติมน้ำต้นทุนให้เขื่อนกักเก็บน้ำ มีการตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดพิษณุโลก และฐานเติมสารฝนหลวงจังหวัดแพร่