เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2564 กองทัพภาคที่ 3/กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 แถลงข่าวประชาสัมพันธ์ ประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 135 ณ ศูนย์เสริมสร้างความปรองดองสมานฉันท์ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 ค่ายสมเด็จพระเอกาทศรถ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก โดยมี พันเอก รุ่งคุณ มหาปัญญาวงศ์ โฆษกกองทัพภาคที่ 3/กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 พร้อมด้วย พันเอก นายแพทย์ วิโรจน์ ชนม์สูงเนิน รองโฆษกฯ, พันโท วรปรัชญ์ กาศสกุล และ พันโท หญิง บุณฑริกา ฑีฆวาณิช ผู้ช่วยโฆษกฯ เป็นผู้แถลงข่าวฯ มีสาระสำคัญดังนี้.-
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเรือนจำและทัณฑสถานทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบัน มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 23,000 ราย ในการนี้ กองทัพบก โดย กองทัพภาคที่ 3 ได้จัดกำลังพลชุดแพทย์ เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหา รวมทั้งการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในเรือนจำในพื้นที่ภาคเหนือ โดยมีการปฏิบัติภารกิจที่สำคัญ ดังนี้
1. เรือนจำกลางเชียงใหม่ มีการตรวจพบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด–19 ช่วงปลายเดือนเมษายน 2564 โดยมีการแพร่ระบาดในกลุ่มผู้ต้องขังแรกรับ ซึ่งต่อมาได้ดำเนินการตรวจเชิงรุกพบว่ามีการติดเชื้อเพิ่มเป็นจำนวนมาก ในการนี้คณะกรรมการควบคุมโรคจังหวัดเชียงใหม่ ได้พิจารณาเห็นว่า การดำเนินการ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด–19 สำหรับพื้นที่เรือนจำกลางเชียงใหม่ มีข้อจำกัดหลายประการ จึงขอรับการสนับสนุนชุดแพทย์จากเหล่าทัพ เพื่อดำเนินการ ณ เรือนจำกลางเชียงใหม่
ทั้งนี้ กองทัพภาคที่ 3 ได้จัดชุดปฏิบัติการฉุกเฉินทางด้านการแพทย์ พร้อมสิ่งอุปกรณ์ทางการแพทย์ ในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามภายในเรือนจำกลางเชียงใหม่ดังกล่าว ปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 3 – 28 พฤษภาคม 2564 ประกอบด้วย กำลังพลชุดแพทย์โรงพยาบาลค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช 2 ผลัด ผลัดละ 18 นาย และกำลังพลชุดแพทย์โรงพยาบาลค่ายกาวิละ โดยได้นำระบบ Bubble & Seal มาใช้ควบคุมการแพร่ระบาดของโรค เพื่อป้องกันการระบาดจากเรือนจำออกสู่ชุมชน, การป้องกันการควบคุมการระบาดระหว่างแดนภายในเรือนจำ และการลดความรุนแรงของอาการและเสียชีวิตของผู้ต้องขัง อีกทั้งได้มีการรักษาอย่างรวดเร็ว ทั้งการใช้ยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจรและยาฟาวิพิราเวียร์ รักษาผู้ติดเชื้อตามความเสี่ยงและความรุนแรงของโรค ทั้งนี้จากการตรวจภูมิคุ้มกันในรอบสุดท้ายกว่า 300 คน พบมีผู้ต้องขังไม่มีภูมิคุ้มกัน 177 คน คิดเป็นร้อยละ 2.7 ของผู้ต้องขังทั้งหมด และมีผู้เสียชีวิตเพียง 3 คน คิดเป็นร้อยละ 0.07 ซึ่งเป็นตัวเลขกลุ่มสุดท้ายก่อนมีการส่งมอบพื้นที่คืนสู่เรือนจำ และเมื่อสิ้นสุดกำหนดระยะเวลา 28 วัน พบว่าขณะนี้ผู้ต้องขังทั้งหมด มีภูมิคุ้มกันหมู่ถึงร้อยละ 95 ของผู้ต้องขังทั้งหมด จึงถือว่าพื้นที่เรือนจำกลางเชียงใหม่เป็นพื้นที่ปลอดภัยจากการระบาดและมีภูมิคุ้มกันหมู่สูง ขณะนี้ถือว่าพื้นที่เรือนจำกลางเชียงใหม่ปลอดภัยแล้วและพร้อมส่งมอบพื้นที่ปราศจากเชื่อโควิด-19 แก่กรมราชทัณฑ์และจังหวัดเชียงใหม่ต่อไป
2. เรือนจำจังหวัดอุตรดิตถ์ เมื่อวันที่ 27 – 31 พฤษภาคม 2564 ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อจังหวัดอุตรดิตถ์ ได้บูรณาการหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ได้แก่ สาธารณสุขจังหวัดอุตรดิตถ์, โรงพยาบาลอุตรดิตถ์ และโรงพยาบาลค่ายพิชัยดาบหัก มณฑลทหารบกที่ 35 ร่วมกับเรือนจำจังหวัดอุตรดิตถ์ นำกำลังพลพร้อมอุปกรณ์ทางการแพทย์ ตรวจคัดกรองหาเชื้อไวรัสโควิด-19 เชิงรุก Active Case Finding จำนวนทั้งสิ้น 912 ราย โดยแยกเป็นผู้ต้องขัง จำนวน 836 ราย และผู้คุมผู้ต้องขัง จำนวน 76 ราย พร้อมทั้งมอบอุปกรณ์ป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 อาทิ ชุด PPE, หน้ากากอนามัย N95, หน้ากากอนามัย และแอลกอฮอล์เจลล้างมือ ให้กับเรือนจำจังหวัดอุตรดิตถ์ สำหรับการคัดกรองหาเชื้อไวรัสโควิด-19 เชิงรุก Active Case Finding โดยการเก็บตัวอย่างจากโพรงจมูกด้านหลัง เพื่อนำไปตรวจวิเคราะห์หาสารพันธุกรรม (RT-PCR) ที่แผนกพยาธิวิทยา โรงพยาบาลค่ายพิชัยดาบหัก เพื่อการป้องกันคลัสเตอร์ในเรือนจำ ป้องกันลุกลาม และการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 ภายในเรือนจำ ตลอดจนสร้างความมั่นใจและความปลอดภัยให้กับเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่ภายเรือนจำ
ซึ่งความจำเป็นในการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ครั้งนี้ เนื่องจากหากมีผู้ติดเชื้อเพียงเล็กน้อยก็จะสามารถแพร่กระจายทำให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นได้ เนื่องจากภายในเรือนจำเป็นพื้นที่แออัด ผู้ต้องขังอยู่รวมกัน อาจเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อได้ง่าย หากสามารถตรวจพบผู้ติดเชื้อได้ในระยะแรก ก็จะสามารถจัดการแยก ผู้ติดเชื้อเพื่อรักษา และสามารถยกระดับการป้องกันการติดเชื้อในพื้นที่เรือนจำจังหวัดอุตรดิตถ์, จัดตั้งโรงพยาบาลสนามได้อย่างทันท่วงที ตามนโยบายของกองทัพบก อีกทั้งยังมีการวางแผนการคัดแยกผู้ป่วย การจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม การวางมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แนะนำการล้างมือทุกๆ ครั้ง เมื่อมีโอกาสด้วยการล้างมือ 7 ขั้นตอน แนะนำการเว้นระยะห่างทางสังคม Social Distancing การเพิ่มมาตรการการป้องกันตามกระทรวงสาธารณสุข ให้กับผู้ต้องขัง และเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ภายในเรือนจำจังหวัดอุตรดิตถ์
ในการนี้ พลโท อภิเชษฐ์ ซื่อสัตย์ แม่ทัพภาคที่ 3/ผู้บัญชาการศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองทัพภาคที่ 3 ได้สั่งการให้หน่วยทหารในพื้นที่ภาคเหนือ ได้มีการเตรียมความพร้อมทั้งบุคลากร, ยุทโธปกรณ์ และอาคารสถานที่ของกองทัพภาคที่ 3 ทุกแห่ง พร้อมทั้งให้การสนับสนุนการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อได้รับการร้องขอ หรือประสานจากคณะกรรมการควบคุมโรคของแต่ละจังหวัดอย่างเร่งด่วน เพื่อดูแลพี่น้องประชาชน ให้ผ่านพ้นสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ได้อย่างปลอดภัยร่วมกัน
ทั้งนี้ จึงขอเรียนให้พี่น้องประชาชน ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือทราบ เพื่อให้เกิดความมั่นใจได้ว่า กองทัพบก โดย กองทัพภาคที่ 3 พร้อมที่จะเคียงข้างพี่น้องประชาชน ในการช่วยเหลือในทุกมิติให้พ้นจากวิกฤตการณ์ในครั้งนี้ พร้อมที่จะทำให้สังคมไทยกลับมาเข้มแข็งและประเทศเดินหน้าต่อไปในอนาคต