เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
สศท.2 บูรณาการข้อมูลเกาะติดสถานการณ์ “ข้าวนาปี” 6 จังหวัดภาคเหนือในฤดูกาลผลิตปีนี้(2565/66 ) พบ พิษณุโลก สุโขทัย แพร่ เนื้อที่ปลูกข้าวน้อยลง
นายประเสริฐศักดิ์ แสงสัทธา ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 2 พิษณุโลก(สศท.2)สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.)เปิดเผยถึงการบูรณาการจัดทำข้อมูลพยากรณ์เนื้อที่ “เพาะปลูกข้าวนาปี” ปีเพาะปลูก 2565/66 (ข้อมูลจากหน่วยงานและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานเกษตรจังหวัดทั้ง 6 จังหวัด เศรษฐกิจการเกษตรอาสาในพื้นที่รับผิดชอบ และเจ้าหน้าที่ส่วนสารสนเทศการเกษตร สศท.2 ณ วันที่ 12 เมษายน 2565) ของ 6 จังหวัดในเขตพื้นที่รับผิดชอบ ได้แก่ พิษณุโลก สุโขทัย แพร่ อุตรดิตถ์ น่าน และตาก โดยบูรณาการวิเคราะห์ข้อมูลจาก ผลการพยากรณ์ มีดังนี้
เนื้อที่เพาะปลูกคาดว่า จังหวัดพิษณุโลก มีจำนวน 1,487,347 ไร่ ลดลงจากปี 2564/65 ร้อยละ 2.32 จังหวัดสุโขทัยมีจำนวน 1,129,280 ไร่ ลดลงจากปี 2564/65 ร้อยละ 0.01 และจังหวัดแพร่ มีจำนวน 299,420 ไร่ ลดลงจากปี 2564/65 ร้อยละ 0.01 เนื่องจากเกษตรกรบางส่วนของจังหวัดพิษณุโลกปรับเปลี่ยนพื้นที่ไปทำเกษตรผสมผสาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
เกษตรกรบางส่วนของจังหวัดสุโขทัยเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวนาปรังล่าช้าจึงต้องปล่อยพื้นที่ว่างในฤดูเพาะปลูก “ข้าวนาปี” เกษตรกรบางรายมีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ไปปลูกมันสำปะหลัง เพราะเห็นว่าสถานการณ์ราคาดีต่อเนื่อง ต้นทุนการผลิตต่ำและบางรายก็มีการปรับเปลี่ยนไปปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากสถานการณ์ราคาจูงใจ
ขณะที่จังหวัดอุตรดิตถ์ มีจำนวน 599,645 ไร่ เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปี 2564/65 ร้อยละ 0.57 จังหวัดน่าน มีจำนวน 336,747 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2564/65 ร้อยละ 2.16 เนื่องจากเกษตรกรคาดการณ์ว่าจะมีน้ำปริมาณมากกว่าปีที่ผ่านมา ครอบคลุมพื้นที่ปลูก “ข้าวนาปี” มากขึ้น และน่าจะมีเพียงพอตลอดรอบการผลิต ปรับเปลี่ยนมาปลูกข้าวในพื้นที่นาที่เคยปล่อยว่าง
รวมทั้งมีแรงจูงใจจากมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว อาทิ โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 64/65 ส่วน ตาก มีจำนวน 383,170 ไร่ เท่ากับปีที่ผ่านมา
ส่วนผลผลิตต่อไร่ คาดว่า จังหวัดพิษณุโลก มีจำนวน 597 กิโลกรัม/ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2564/65 ร้อยละ 1.85 และจังหวัดสุโขทัย มีจำนวน 550 กิโลกรัม/ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2564/65 ร้อยละ 8.35 เนื่องจากปีนี้มีฝนตกตั้งแต่ต้นปีทำให้มีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าว ประกอบกับเกษตรกรมีการดูแลเอาใจใส่ดีขึ้นเนื่องจากคาดหวังผลตอบแทนที่จะได้รับจากการผลิต
อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงในเดือนมิถุนายนและโรคแมลงศัตรูพืช ส่งผลกระทบให้ผลผลิต เนื้อที่เก็บเกี่ยว และผลผลิตต่อไร่อาจได้รับความเสียหาย
ส่วนผลผลิตต่อไร่ของทั้ง 4 จังหวัด ที่มีผลผลิตเท่ากับปีที่ผ่านมา ได้แก่ จังหวัดอุตรดิตถ์จำนวน 593 กิโลกรัม/ไร่ จังหวัดแพร่ มีจำนวน 578 กิโลกรัม/ไร่ จังหวัดน่าน มีจำนวน 511 กิโลกรัม/ไร่ และจังหวัดตาก มีจำนวน 415 กิโลกรัม/ไร่ เนื่องจากคาดว่ายังคงมีปริมาณน้ำเพียงพอ โดยเฉพาะในช่วงแตกกอและออกรวงเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา
ด้านปริมาณผลผลิตที่จะออกสู่ตลาด จังหวัดพิษณุโลกคาดว่าผลผลิตจะเริ่มออกสู่ตลาดช่วงเดือนกรกฎาคม 2565 -มกราคม 2566 จำนวน 887,946 ตัน จังหวัดสุโขทัย คาดว่าจะเริ่มออกสู่ตลาดช่วงกรกฎาคม 2565 – กุมภาพันธ์ 2566 จำนวน 621,104 ตัน จังหวัดอุตรดิตถ์ ผลผลิตออกสู่ตลาดช่วงเดือนสิงหาคม 2565 – มกราคม 2566 จำนวน 355,589 ตัน เนื่องจากเกษตรกรในบางพื้นที่อาจปลูก “ข้าวนาปี” ล่าช้า ซึ่งหากเป็นข้าวเจ้าพันธุ์ขาวดอกมะลิจะมีอายุเก็บเกี่ยวนานถึง 120 วัน ทั้งนี้ผลผลิตของทั้ง 3 จังหวัด จะเริ่มมีปริมาณมากช่วงเดือนตุลาคม 2565 และกระจุกตัวเดือนพฤศจิกายน 2565
ส่วน แพร่ ตาก น่าน และอุตรดิตถ์ มีช่วงระยะเวลาที่ผลผลิตออกสู่ตลาดสั้นกว่าจังหวัดอื่น เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่นิยมปลูกและเก็บเกี่ยวในช่วงเวลาเดียวกันโดยจังหวัดแพร่ ผลผลิตออกสู่ตลาดช่วงกรกฎาคม – ธันวาคม 2565 จำนวน 173,065 ตัน จังหวัดน่านผลผลิตออกสู่ตลาดช่วงเดือนตุลาคม 2565 – มกราคม 2566 จำนวน 172,078 ตัน และจังหวัดตาก ผลผลิตออกสู่ตลาดช่วงเดือนกันยายน – ธันวาคม 2565 จำนวน 159,016 ตัน
ในขณะที่ภาพรวมสถานการณ์การตลาดข้าวไทยปี 2565 ราคาข้าวเปลือกเจ้า ณ ความชื้น 15 % คาดว่าปรับตัวสูงขึ้นเพียงเล็กน้อย เฉลี่ยอยู่ที่ตันละ 8,900 – 9,400 บาท เนื่องจากข้าวเปลือกเจ้าพื้นแข็งของไทยมีต้นทุนการผลิตสูง
กว่าประเทศคู่แข่งทำให้ไม่สามารถแข่งขันด้านราคาในตลาดโลก รวมทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่มีความแน่นอน
แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ในการส่งออกข้าวเริ่มคลี่คลายลง ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจะช่วยหนุนให้ปริมาณการส่งออกข้าวของไทยเพิ่มขึ้น รวมทั้งความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศที่มีมากขึ้นตามกรอบแนวทางการสร้างความมั่นคงด้านอาหาร
ทั้งนี้ สศท.2 จะดำเนินการติดตามสถานการณ์เพื่อใช้เป็นข้อเสนอแนะในการวางแผนบริหารจัดการข้าวตั้งแต่ช่วงต้นฤดูกาล อาทิ กรมชลประทานควรวางแผนบริหารจัดการน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด ปรับการระบายให้เหมาะสมกับสถานการณ์ โดยคำนึงถึงปริมาณน้ำ ระยะเวลา ผลกระทบ และการมีส่วนร่วมของพื้นที่ การแจ้งเตือนภัยเพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเร่งผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวตามความต้องการของตลาด (ข้าวพื้นนุ่ม)ให้ทันฤดูกาลเพาะปลูก
ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องด้านการตลาดต่างประเทศควรแจ้งเตือนสถานการณ์ตลาดล่วงหน้าเพื่อให้ภาคการผลิตสามารถวางแผนทั้งเชิงรุกและเชิงรับและทุกจังหวัดควรใช้กลไกคณะทำงานประสานงานด้านการตลาด วิเคราะห์ข้อมูลสมดุลสินค้า(Demand Supply)เพื่อให้ทราบผลผลิตส่วนเกิน ส่วนขาดเพื่อวางแผนบริหารจัดการผลผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากสนใจข้อมูลเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ที่ ส่วนสารสนเทศการเกษตร สศท.2 โทร. 05 532 2658 ต่อ 205 หรืออีเมล [email protected]