วันพฤหัสบดี ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2564, 17.19 น.
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 16 ธันวาคม 64 อุตรดิตถ์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณจวนผู้ว่าราชการจังหวัด ต.ท่าอิฐ อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ นายผล ดำธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ พร้อมนางวันทนา ดำธรรม นายกเหล่ากาชาดจังหวัดอุตรดิตถ์ และ นายพยงค์ ยาเภา รอง ผวจ.อุตรดิตถ์ พล.ต.ต.สุทธิพงศ์ เป็กทอง ผบก.ภ.จว.อุตรดิตถ์ แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนท้องถิ่นถึงการจัดงาน “ พระยาพิชัยดาบหักและงานกาชาด” ประจำปี 2565 ระหว่างวันที่ 7 – 16 มกราคม 2565 10 วัน 10 คืน โดยมีหัวหน้าส่วนราชการฝ่ายพลเรือน ทหาร ตำรวจ หน่วยงานภาคเอกชน และ แขกผู้มีเกียรติ ฯ ร่วมแถลงข่าว ท่ามกลางบรรยากาศเต็มไปด้วยความอบอุ่น
นายผล ดำธรรม ผวจ.อุตรดิตถ์ กล่าวว่า จังหวัดอุตรดิตถ์ ได้กำหนดวันเปิดงานและพิธีบวงสรวงดวงวิญญาณท่านพ่อพระยาพิชัยดาบหัก ในวันที่ 7 มกราคม เพราะเป็นวันที่พระยาพิชัยดาบหักได้ต่อสู้กับพม่าเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2316 จนดาบหัก จึงได้รับสมญานามว่า “พระยาพิชัยดาบหัก” เพื่อเผยแพร่ชื่อเสียงเกียรติประวัติของจังหวัดอุตรดิตถ์ โดยให้ประชาชนได้มีโอกาสสักการะแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวทีต่อท่านพ่อพระยาพิชัยดาบหัก และ เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดอุตรดิตถ์ ให้เป็นที่รู้จักแก่นักท่องเที่ยวและพากันเดินทางมาเที่ยวมากขึ้น
สำหรับการจัดงานในครั้งนี้มีการออกร้านของเหล่ากาชาด การออกสลากกาชาด เพื่อจัดหารายได้นำไปช่วยการกุศลและบำเพ็ญสาธารณะประโยชน์ของจังหวัดอุตรดิตถ์และเหล่ากาชาดจังหวัดอุตรดิตถ์ด้วย อีกทั้งยังมีการออกร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนของทุกอำเภอที่คัดสรรสิ่งที่ดีที่สุดมาไว้ภายในงาน รวมทั้งการออกร้านและการประกวดร้านของทั้ง 9 อำเภอชมการแสดงบนเวทีกลาง เช่นการประกวดร้องเพลง ท้องถิ่นท้องที่สามัคคีเสียงทอง การประกวดนางสาวอุตรดิตถ์และขุนศึกคู่ใจพระยาพิชัยดาบหัก การแสดงและจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์ หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ การแสดงดนตรีของศิลปินชื่อดัง และ การแสดงบนเวทีกลางมากมายตลอด 10 วัน 10 คืน ที่บริเวณสนามกีฬาพระยาพิชัยดาบหัก อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ ส่วนแนวทางการการดำเนินงาน ไม่ว่าการแสดงคอนเสิร์ตและกิจกรรมต่าง ๆ ให้เป็นตามมาตรการข้อบังคับการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมการระบาดโรคโควิด-19 ด้วยความเคร่งครัด
พระยาพิชัยดาบหัก เดิมชื่อ จ้อย เกิดที่บ้าน ห้วยคา อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ เมื่อปี พ.ศ. 2284 ในสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา ศึกษาอยู่กับท่านพระครูวัดมหาธาตุหรือวัดใหญ่ เมืองพิชัย ภายหลัง จ้อยได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นทองดี หรือ ทองดีฟันขาว มีความสามารถทั้งทางเชิงมวยและเชิงดาบ เข้ารับราชการกับพระเจ้าตากสิน ตั้งแต่ครั้งดำรงตำแหน่งเป็นพระยาตาก ต่อมานายทองดีได้รับแต่งตั้งเป็นองค์รักษ์มีบรรดาศักดิ์เป็น “หลวงพิชัยอาสา” เมื่อรับราชการมีความดีความชอบจึงได้รับแต่งตั้งเป็น เจ้าหมื่นไวยวรนาถ พระยาสีหราชเดโช และพระยาพิชัย ผู้สำเร็จราชการครองเมืองพิชัย ซึ่งรับพระราชทานเครื่องยศเสมอเจ้าพระยาสุรสีห์ตามลำดับ ภายหลังพม่ายกทัพมาตีเมืองพิชัย 2 ครั้ง ในการรบครั้งที่ 2 พระยาพิชัยถือดาบสองมือ ออกต่อสู้จนดาบหักไปข้างหนึ่ง และรักษาเมืองไว้ได้ ดังนั้นจึงไดัรับสมญานามว่า ” พระยาพิชัยดาบหัก “
ในปี พ.ศ. 2311 พม่าได้ยกทัพมาอีก 1 หมื่นคน พระเจ้าตากพร้อมด้วยหมื่นไวยวรนาถได้เข้าโจมตีจนแตกพ่าย และได้มีการสู้รบปราบก๊กต่าง ๆ อีกหลายคราว เมื่อพระเจ้าตากสินเสด็จกลับกรุงธนบุรี โปรดตั้งเจ้าหมื่นไวยวรนาถเป็น “พระยาสีหราชเดโช” มีตำแหน่งเป็นนายทหารเอกราชองครักษ์ตามเดิม สุดท้ายเมื่อปราบก๊กพระเจ้าฝางได้แล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสินได้ทรงปูนบำเหน็จความชอบให้ทหารของพระองค์โดยทั่วหน้า ส่วนพระยาสีหราชเดโช (จ้อย หรือ ทองดี ฟันขาว) นั้น ได้โปรดเกล้าฯ บำเหน็จความชอบให้เป็นพระยาพิชัยปกครองเมืองพิชัย อันเป็นบ้านเกิดเมืองนอนแต่เยาว์วัย
ในปี พ.ศ. 2313 – 2316 ได้เกิดการสู้รบกับกองทัพพม่าอีกหลายคราว และทุกคราวที่กองทัพพม่าแตกพ่ายไป ก็สร้างความอัปยศอดสูแก่แม่ทัพนายกองเป็นทวีคุณ พอสิ้นฤดูฝนปีมะเส็ง พ.ศ. 2316 โปสุพลายกกองทัพมาหมายตีเมืองพิชัยอีก “การศึกครั้งนี้พระยาพิชัยจับดาบสองมือคาดด้าย ออกไล่ฟันแทงพม่าอย่างชุลมุน จนเมื่อพระยาพิชัยเสียการทรงตัว ก็ได้ใช้ดาบข้างขวาพยุงตัวไว้ จนดาบข้างขวาหักเป็นสองท่อน” กองทัพโปสุพลาก็แตกพ่ายกลับไป เมื่อวันอังคาร เดือนยี่ แรม 7 ค่ำ ปีมะเส็ง พ.ศ. 2316 (ตรงกับวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2316)
พระยาพิชัยดาบหัก ได้สร้างมรดกอันควรแก่การยกย่องสรรเสริญให้สืบทอดมาถึงปัจจุบัน ได้แก่ ความซื่อสัตย์สุจริต ความกตัญญูกตเวที ความเด็ดเดี่ยวเฉียบขาดกล้าหาญรวมถึงความรักชาติ ต้องการให้ชาติเจริญรุ่งเรืองมั่นคงตลอดมาตราบจนทุกวันนี้
“อนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก” ประดิษฐานอยู่หน้าศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์ อำเภอเมือง สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงเกียรติในเรื่องความ องอาจ กล้าหาญ รักชาติ และ เสียสละของท่าน ชาวจังหวัดอุตรดิตถ์ และ นายเวทน์ นิจถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดขณะนั้น ได้พร้อมใจกันสร้าง อนุสาวรีย์ของท่านประดิษฐานไว้หน้าศาลากลางจังหวัด และ ทำพิธีเปิด เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512
นอกจากนี้ บริเวณอนุสาวรีย์ ยังมีพิพิธภัณฑ์ดาบเหล็กน้ำพี้ใหญ่ที่สุดในโลกเป็นที่เก็บรักษาดาบเหล็กน้ำพี้ใหญ่ที่สุดในโลก มีน้ำหนัก 557.8 กิโลกรัม ฝักดาบทำด้วยไม้ประดู่ ฝังลวดลายมุกหุ้มปลอกเงินสลักสลาย และ “พิพิธภัณฑ์พระยาพิชัย” ที่ภายในเก็บรวบรวมประวัติของพระยาพิชัยดาบหัก รวมทั้งแบบจำลองสนามรบ และ วิถีชีวิตผู้คนเมืองอุตรดิตถ์ในสมัยอยุธยาตอนปลาย รวมทั้งเครื่องมือเครื่องใช้ในสมัยโบราณ