อัทธ์ ชี้ไทยเล็งใช้ประโยชน์รถไฟลาว-จีนดันส่งออก-เชื่อมหนองคายเป็นศูนย์กลางธรุกิจ
นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวในงาน NEXE STEP เกษตรไทย ในหัวข้ออีสานเกตเวย์ “รถไฟจีน-ลาว” โอกาสและความท้าทายที่เกษตรกรเผชิญหลังยุคโควิด-19 ว่า รถไฟลาว-จีน เปลี่ยนหน้าตาประเทศลาวให้เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของอาเซียน และเป็นศูนย์กลางในการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม ซึ่งมองโอกาสของหลายจังหวัดในประเทศไทย ถ้าใช้สูตร 5+4 คือ 5 จังหวัดที่สามารถเชื่อมกับรถไฟลาว-จีน ประกอบด้วย หนองคาย น่าน อุตรดิตถ์ เชียงราย และเลย ซึ่ง 4 สถานีรถไฟที่ตั้งขึ้น ประกอบด้วย หลวงน้ำธา หลวงพระบาง อุดมสินชัย และเวียงจันทน์ ตัวอย่าง หนองคาย ขณะนี้เส้นทางรถไฟที่ไปเชื่อมต่อกับไดฟ์พอร์ตใน VLP เวียงจันทร์โลจิสติกส์ปาร์คเรียบร้อยแล้ว ดังนั้น ตู้สินค้าสามารถขนถ่ายได้ที่ไดฟ์พอร์ต รวมถึงสามารถต่อรถไฟไปลาว-จีนได้เลย
แต่สิ่งที่ขาดคือการขนคน ซึ่งเส้นทางรถไฟลาว-จีน สามารถขนได้ทั้งคนและของ ถ้าไม่มีโควิด หรือการล็อกดาวน์ประเทศจีน นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาผ่านเส้นทางนี้ได้เยอะมาก แต่ขณะนี้ยังไม่เชื่อม เนื่องจากเส้นทางจากหนองคายเข้าไปในบ้านคำสะหวาดฝั่งลาวยังเสร็จเพียง 90% ใกล้จะสมบูรณ์ 100% แล้ว แต่ยังขาดการเชื่อมต่ออีก 8 กิโลเมตร จากบ้านคำสะหวาดไปสถานีเวียงจันทร์ใต้ ซึ่งเป็นสถานีใหญ่ในการขนคน สุดท้ายยังเป็นเป็นทางที่ขาดอยู่
สำหรับฝั่งหนองคายเกือบจะยังไม่มีอะไรรองรับไว้สำหรับขนสินค้าเข้าไปเลย ตัวเลขล่าสุดการขนสินค้าเดือนกุมภาพันธ์ 2565 โดยประมาณที่นำเข้าสินค้า 70-80 ล้านบาท แต่ส่งออก 8 ล้านบาท เป็นการนำเข้ามากกว่าส่งออก เนื่องจากเราไม่ได้เตรียมของฝั่งไทยไว้ ดังนั้น สิ่งที่หนองคายต้องเตรียมมีหลายเรื่อง โดยสิ่งที่ต้องทำคือ 1.เป็นศูนย์กลางธุรกิจในการซื้อขาย 2.ตู้ขนถ่ายคอนเทนเนอร์สำหรับขนถ่าย 3.เขตเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย และสร้างสะพานแห่งที่ 2 เพื่อเชื่อมรถไฟ หากทำได้หนองคายสามารถเป็นเกต์เวย์ได้
“รถไฟลาว-จีน ไทยควรส่งออกสินค้าหลากหลายมากขึ้น เนื่องจากไทยขาดดุลการค้ากับจีน โดยไทยนำเข้าสินค้าของจีนมากกว่าการส่งออก ดังนั้น ไทยควรใช้ประโยชน์จากรถไฟเส้นนี้มากกว่าการส่งออกทุเรียนที่เป็นสินค้าหลัก”นายอัทธ์กล่าว
นอกจากนี้ การที่จีนสร้างรถไฟครั้งนี้ไม่เพียงหวังผลจากการสร้างเส้นทางเท่านั้น ยังรวมถึงการเข้าไปทำเขตอุตสาหกรรมแปรรูปด้วย ดังนั้น ข้อจำกัดด้านเกษตรของลาวก็เปิดโอกาสให้ไทยที่มีความพร้อมด้านเกษตร และจีนอาจนำเอาเกษตรไทยไปแปรรูปเพื่อต่อยอดเป็นธุรกิจในอนาคตได้
ขณะเดียวกัน ถ้าการสร้างเส้นทางของไทยยังล่าช้าอยู่ ลาวอาจจะเลือกเชื่อมเส้นทางระหว่างกรุงเวียงจันทร์ไปขึ้นที่ท่าแขกที่อยู่ตรงข้ามนครพนม และสามารถวิ่งตรงไปที่เวียดนาม ซึ่งรัฐบาลเวียดนามบอกว่าภาคกลางเวียดนามคือประตูสู่อาเซียน เมื่อรถไฟลาว-จีนเสร็จ อาจมีการต่อเส้นทางเพื่อออกสู่ทะเลและเกิดการค้าในตลาดภายนอกมากขึ้น ซึ่งไทยต้องพัฒนาให้เร็วและก้าวตามให้ทันประเทศเพื่อนบ้าน
นายอัทธ์กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยต้องคิดภายใต้รถไฟลาว-จีน จะมีสินค้าเกษตรจากตะวันออกเดิมจะใช้เส้นทางของอีสานผ่านตรงกลางเวียดนาม ซึ่งต่อจากนี้ผลไม้อีสานอาจใช้เส้นทางลาว-จีน เพราะใช้เวลาเร็วขึ้น ซึ่งต้องยอมเสียค่าโดยสารเพิ่มอีกหน่อยเพื่อขนสินค้าไปหนองคาย และย่นระยะเวลาการขนส่งได้มากขึ้น รวมถึงส่งออกสินค้าจะขยายตัวได้มากขึ้น แต่เมื่อไหร่ไทยสามารถพัฒนารถไฟจากกรุงเทพฯ-หนองอาจทำให้ลดต้นทุนไปได้ถึง 60% เศรษฐกิจประเทศจะเติบโตได้อีกในอนาคต
ขณะเดียวกัน ภาครัฐ หรือภาคเอกชน เข้ามาเป็นตัวกลางช่วยบริหารจัดการภาคโลจิสติกส์ โดยเข้ามาช่วยรวบรวมสินค้า กระจายสินค้า รวมถึงดูสินค้าให้เต็มตู้ก่อนนำส่งไปประเทศจีน หากไม่มีระบบที่ดีก็ไม่สามารถส่งสินค้าได้เต็มประสิทธิภาพ เพราะค่าขนส่งจะแพงในกรณีไม่มีผู้รวบรวมส่งสินค้าออกไป
“นอกจากนี้ แม้ภาคเกษตรกรไทยจะเก่งเรื่องการผลิตสินค้ามาก แต่ด้อยเรื่องการตลาด ดังนั้น ไทยควรรู้ถึงความต้องการตลาด และการขายที่แตกต่างมากขึ้น เช่น การเข้าถึงการขายผ่านออนไลน์ และชูวัตถุดิบที่แตกต่าง และขายสินค้าแปรรูปให้มากขึ้นจะเพิ่มมูลค่าสินค้า และเกิดการส่งออกได้มากยิ่งขึ้น”นายอัทธ์กล่าว
ด้านนายถวิลย์ อินต๊ะขัน ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายปฏิบัติการธุรกิจ Integration บริษัท เจียไต๋ จำกัด กล่าวในหัวข้อเกษตรติดเทรนด์ ปิดจุดอ่อน เสริมจุดแข็ง พร้อมรับทุกการเปลี่ยนแปลง ว่า ช่วงโควิดหัวใจสำคัญคือการทำธุรกิจ โดยให้เกษตรกรเข้าใจตลาดเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับภาคเกษตรกรให้มีรายได้มันคง โดยสร้างองค์ความรู้จากการเพาะปลูกที่ดีตั้งแต่ขั้นต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ให้เกิดความสมดุลโดยใช้วิธีการใหม่ๆ มากขึ้นจะทำให้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพและสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค เมื่อสินค้ามีคุณภาพก็พร้อมเข้าสู่ตลาดโมเดลเทรดจะยิ่งสร้างรายได้ และการส่งออกในวงกว้างมากขึ้นสร้างธุรกิจภาคเกษตรให้มั่นคง นอกจากนี้ ผู้ค้าต้องมีตลาดที่หลากหลายเพื่อรองรับการส่งออกในอนาคต
ด้านนายปวิตพล ไพบูลย์ ผู้เชี่ยวชาญที่ปรึกษากองพัฒนาขีดความสามารถธุรกิจอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวในหัวข้อเกษตรติดเทรนด์ ปิดจุดอ่อน เสริมจุดแข็ง พร้อมรับทุกการเปลี่ยนแปลง ว่า สำหรับภาคเอกชนได้มีการเข้าไปส่งเสริมเกษตรกรช่วงโควิด เรื่องการทำธุรกิจด้านการแปรรูปผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ทำเกษตรเพื่อธุรกิจจากการศึกษาตลาดมากขึ้น อาทิ 1.โดยผู้ผลิตจะต้องดูว่าสินค้าใหม่ที่เป็นกระแส หากปลูกมากราคาที่ขายออกอาจไม่พอต้นทุน เพราะมีการแข็งขันสูง 2.ดูกระบวนการผลิตควรมีการควบคุมให้สินค้ามีคุณภาพ โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เพื่อลดระยะเวลา 3.ผลผลิตสามารถสร้างรายได้จากการแปรรูปหลากหลายมากขึ้น และ 4.ต้องสร้างจุดขายให้ผลิตภัณฑ์มีความน่าสนใจให้ลูกค้าเข้ามาอุดหนุนมากขึ้น นอกจากนี้ การหาช่องทางใหม่ๆ เช่น ตลาดออนไลน์ จึงเป็นสิ่งสำคัญในการส่งผ่านสินค้าได้มากขึ้น
ด้านนางสาวรัฐรินทร์ สว่างสาลีรัฐ จ.สระแก้ว สมาร์ทฟาร์มเมอร์ทำเกษตรผสมผสาน-ท่องเที่ยวเชิงเกษตร ผลผลิตและการแปรรูป ภายใต้แบรนด์ ไร่ดีต่อใจ กล่าวในหัวข้อเกษตรติดเทรนด์ ปิดจุดอ่อน เสริมจุดแข็ง พร้อมรับทุกการเปลี่ยนแปลง ว่า สำหรับเกษตรกรช่วงโควิดได้รับผลกระทบมาก และปัจจุบันสามารถปรับตัวได้บ้างแล้ว จากการส่งออกมะม่วง มะยงชิด และกระท้อน รวมถึงการขายผ่านออนไลน์ นอกจากนี้ ได้รวบรวมเกษตรกรหลายราย และสร้างคอนเนกชั่นร่วมกันในการค้นหาตลาดใหม่ๆ รวมถึงมีแผนการขายเป็นระบบ เช่น มีสินค้าสัดส่วน 100% แบ่งขายให้พ่อค้าคนกลาง 30% ส่งออกไปที่โรงงาน 30% ส่งเข้าห้างสรรพสินค้า 30% และอีก 10% เก็บไว้ขายเอง หรือถ้าลูกค้าได้ชิมแล้วชอบอาจมาท่องเที่ยวในสวนได้ เพราะเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวไปในตัว ดังนั้น เมื่อเข้าใจความต้องการตลาด จึงมีการคิดค้นผลิตภัณฑ์แปรรูปหลากหลาย และก้าวสู่ตลาดใหม่ที่มีสินค้าคุณภาพพร้อมรองรับทุกสถานการณ์
นอกจากนี้ ได้มีการผลิตผลไม้ที่มีรสชาติเฉพาะในพื้นที่ของตนเองจากการเพาะปลูกที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดสามารถชูเป็นจุดขายท้องถิ่น อีกทั้ง ยังศึกษาทฤษฎีจากแหล่งใหม่ๆ เข้ามาประกอบการผลิตให้เกิดมูลค่าเพิ่มมากขึ้น