วันที่ 8 ธ.ค.65 ที่วิทยาลัยเทคนิค กฝผ.แม่เมาะ จังหวัดลำปางนางสาวอรพินทร์ เพชรทัต เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (เลขานุการ รมว.ศธ.) เป็นประธานเปิดการแข่งขันทักษะวิชาชีพ พร้อมด้วย นายสง่า แต่เชื้อสาย ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ประเภทวิชาอุตสาหกรรม ทักษะงานยานยนต์ไฟฟ้า ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ระดับภาค ภาคเหนือ ปีการศึกษา 2565 ครั้งที่ 34 จัดโดยวิทยาลัยเทคนิคนครสวรรค์ ร่วมกับวิทยาลัยเทคนิคลำปางและในพื้นที่ภาคเหนือ 14 แห่ง และได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนชั้นนำด้านยานยนต์และไฟฟ้าของภาคเหนืออีกมากมาย
เลขานุการ รมว.ศธ. กล่าวในพิธีเปิดการแข่งขันตอนหนึ่งว่า ต้องยอมรับว่ากระแสของยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดกำลังเป็นเทรนด์ใหม่ของโลก ที่เราไม่สามารถปฏิเสธได้ ในฐานะกระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ซึ่งมีทำหน้าที่ผลิตกำลังคนตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าซึ่งมีแนวโน้มปริมาณการใช้งานเพิ่มสูงขึ้นทุกปี จึงจำเป็นต้องสร้างทักษะวิชาชีพ เสริมความรู้ใหม่ๆ เพื่อพัฒนาผู้เรียนของเราให้ตอบสนองภาคอุตสาหกรรมยานยนต์และตลาดแรงงานภายในประเทศอย่างเต็มที่
โดยล่าสุด กระทรวงศึกษาธิการได้ขับเคลื่อนและขยายผลความร่วมมือ MOU ระหว่าง สอศ.กับสถานประกอบการและองค์กรวิชาชีพ รวม 32 แห่ง สู่การยกระดับหลักสูตรพัฒนาทักษะวิชาชีพ เป็น “สาขาวิชายานยนต์ไฟฟ้า” และ “สาขาวิชาเทคนิคยานยนต์ไฟฟ้า” เพื่อเปิดสอนในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2566 ในสถานศึกษา 51 แห่งที่มีความพร้อมด้านครุภัณฑ์รถยนต์พลังงานไฟฟ้า 100% หรือ EV (Electric Vehicle) และเตรียมขยายผลสู่สถานศึกษาที่เปิดสอนวิชาเทคนิคเครื่องกล 285 แห่งทั่วประเทศในปี 2568 สู่เป้าหมายการผลิตกำลังคน EV กว่า 13,000 คนต่อปี ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ
“การจัดแข่งขันทักษะงานยานยนต์ไฟฟ้าในครั้งนี้ เป็นการแสดงให้เห็นถึงแผนขับเคลื่อนนโยบายการผลิตกำลังคนสู่ตลาดรถยนต์ EV ของประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นการแข่งขันเพื่อเฟ้นหาตัวแทนภาคเหนือ ไปร่วมแข่งขันในระดับประเทศต่อไป โดยมีผู้เรียนอาชีวะเข้าร่วมแข่งขันทั้งสิ้น 70 คน จากวิทยาลัยเทคนิคในพื้นที่ภาคเหนือ 16 แห่ง อาทิ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง อุตรดิตถ์ แพร่ ปัว เชียงคำ เชียงราย นครสวรรค์ กำแพงเพชร ตาก สุโขทัย พิษณุโลก และวิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษกเชียงราย และวิทยาลัยการอาชีพวิเชียรบุรี ในโอกาสนี้ ต้องขอขอบคุณผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดการแข่งขันทักษะงานยานยนต์ไฟฟ้าให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี โดยเฉพาะภาคเอกชน ทั้งหน่วยงานที่ปรึกษาการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจีน บริษัทวี กรีนเนอร์ จำกัด บริษัทอาโซโลตล์ จำกัด และ EV.Acdemy ที่ให้การสนับสนุนอุปกรณ์การสอบภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ รวมถึงเป็นกรรมการตัดสิน ตลอดจนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ที่ได้จัดแสดงนิทรรศการรถไฟฟ้าและอำนวยความสะดวกการศึกษาดูงานด้านพลังงานไฟฟ้า ขอฝากให้เรามาจับมือกันพัฒนาเด็กอาชีวะไทย ให้เป็นฝีมือชนที่มีมาตรฐานเข้าสู่ภาคอุตสากรรม EV ของประเทศอย่างเข้มแข็งร่วมกัน