18 กรกฎาคม 2564 | โดย รมย์รัมภา เริ่มรู้
4,981
ย้อนรอยเส้นทาง “หมอบุญ” น.พ. บุญ วนาสิน เจ้าของอาณาจักร “กลุ่มโรงพยาบาลธนบุรี” ก่อนจะเข้าสู่มหากาพย์ ดีลวัคซีน “โมเดอร์นา” และ “ไฟเซอร์”
ความร้อนแรงของ “หมอบุญ” หรือ น.พ.บุญ วนาสิน ในวัย 84 ปี เจ้าของอาณาจักรธุรกิจ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG เป็นที่พูดถึงกันมากมายในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
นับตั้งแต่โต้กันไปมากับ “องค์การเภสัชกรรม” โดย องค์กรรเภสัชกรรม ได้ออกแถลงการณ์ เรื่อง แจ้งความเอาผิดหมอบุญ ฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา เป็นเหตุให้องค์การเภสัชฯได้รับความเสียหาย กรณีเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จการจัดซื้อวัคซีนโมเดอร์นา (Moderna)
ในแทบจะทันที หมอบุญ ก็สวนกลับว่า ยินดีให้ฟ้อง และจะนำเอกสารหลักฐานที่มีทั้งหมดไปยื่นกลางศาล
“หากองค์การเภสัชฯ ฟ้องผมจะเป็นเรื่องที่ดี เพราะเอกสารต่าง ๆ ขององค์การเภสัชฯ จะได้ถูกเปิดเผย (แฉ) กลางศาล มีหมดว่าซื้อเท่าไหร่ อย่างไร”
นอกจากนี้ยังมีประเด็นหลังจากหมอบุญเผยการเตรียมเจรจานำเข้าวัคซีน mRNA จากไบออนเทค เมื่อวันที่ 12 ก.ค.64 ถัดมาไม่นาน ในวันที่ 15 ก.ค. สำนักข่าวรอยเตอร์ ได้รายงานว่า บริษัทไบออนเทคของเยอรมนี ปฏิเสธว่า อยู่ระหว่างเจรจาขายวัคซีนโควิดกับบริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป
เมื่อเจอโต้กลับมาเช่นนี้ หมอบุญ ได้เปิดเผยกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า เป็นเรื่องปกติที่ฝ่ายนั้นต้องปฎิเสธ เพราะติดข้อกฎหมาย ห้ามเปิดเผยข้อมูลการเจรจาระหว่างกัน จนกว่าจะมีการเซ็นสัญญาเกิดขึ้น
“ส่วนของผมที่ออกมาเปิดเผยถือว่าปากหมาเอง แต่ไม่เป็นไรเพราะทำเพื่อประเทศ ที่ต้องช่วยคนไทยด้วยกัน กระบวนการที่แจ้งไว้ยังเหมือนเดิม”
ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ชื่อของ “หมอบุญ” จึงเป็นที่สนใจกันอย่างมาก โดยเฉพาะในภาวะที่ “วัคซีน” หายากยิ่งกว่าทองคำ ถึงมีเงินก็ซื้อไม่ได้อย่างในตอนนี้นั้น สังคมนอกแวดวงการลงทุน จึงเริ่มอยากรู้จัก “คุณหมอนักเทคโอเวอร์” รายนี้ ว่า มีดีอย่างไร? ทำไมจึงสามารถ(มากกว่ารัฐบาลไทย)ในการนำเข้าวัคซีนมาได้เสียอีก?
- ย้อนเส้นทาง หมอนักเทค(โอเวอร์)
เส้นทางของ “หมอบุญ” หลังจากก่อตั้ง ธุรกิจรพ.ธนบุรี ตั้งแต่ปี 2520 แต่ที่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขว้างคือการเป็น “นักซื้อตัวยง” หรือ “นักเทคโอเวอร์” ในสินทรัพย์ที่ไม่รอด ถูกยึดขายสินทรัพย์ โดยเฉพาะในอสังหาริมทรัพย์ ยิ่งในปี 2540 เกิดวิกฤติต้มยำกุ้งทำให้หลังจากนั้น มีรายชื่อเศรษฐีใหม่เกิดขึ้นจากการเข้ามาเก็งกำไรในสินทรัพย์เหล่านี้ หนึ่งในนั้นชื่อ “หมอบุญ”
จำนวนธุรกิจดังกล่าวมีทั้งอยู่นอกและในตลาดหุ้น เลยทำให้อีกหนึ่งด้านทำให้ “หมอบุญ” มีชื่อเสียงในการเข้ามาถือหุ้นในบริษัทจดทะเบียนรวมอยู่ด้วย แม้ว่า THG ขณะนั้นไม่ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นก็ตาม
ช่วงนั้นแสดงความสนใจเข้าซื้อสินทรัพย์ของเลห์แมน บราเธอร์ส ที่ลงทุนไว้ในในประเทศไทยทั้งประเภทอาคารสำนักงานและโรงแรม ซึ่งธุรกิจอสังหาฯ ถือว่าเป็นที่สนใจมากที่สุดจนตั้ง บริษัท อัลไพน์ เรียลเอส เตท จำกัด และยังลงทุนในธุรกิจอสังหาฯในตลาดหุ้น เช่น บริษัท ราชธานีและที่ดิน และ โรงพบาบาล ปิยะเวช ที่เทคโอเวอร์มาในราคา 600 ล้านบาท (ก่อนจะขายให้กลุ่มอยู่วิทยา และมีการขายต่อให้กลุ่มบางปะกอกในปี 2559) จนทำให้ในพอร์ตช่วงปี 2550 มีทั้งโรงแรม 3-5 ดาว, คอนโดมิเนียม, ศูนย์การค้า และศูนย์วินิจฉัยโรคครบวงจร
ด้านเครือข่ายพันธมิตรในต่างประเทศ คือได้ว่าเป็นบุคคล “บิ๊กคอนเน็คชั่น” จากสายสัมพันธ์นักธุรกิจด้วยกัน ทั้งฮ่องกง จีน เวียดนาม พม่า และ ตะวันออกกลาง ด้วยการเข้าไปรับช่วงบริหารในกิจการโรงพยาบาลให้กลับมามีกำไรและเติบโต
สอดคล้องกับช่วงสัมภาษณ์ “กรุงเทพธุรกิจบิสวีค” เมื่อ ปี 2548 ส่วนใหญ่ที่ทำให้ร่ำรวยจะมาจากการลงทุนประเทศต่างๆ ซึ่งถือเป็นอีกวิธีในการกระจายความเสี่ยง เพื่อไม่ให้ขุมทรัพย์นับหมื่นล้านบาทต้องมา “แขวน” ไว้กับอนาคตของเศรษฐกิจไทย ที่มองว่าช่วงเวลานั้นมีความแข็งแรงน้อยกว่าเศรษฐกิจของประเทศที่นำเงินไปลงทุน
จน ปี 2560 ได้นำธุรกิจรพ.ธนบุรี เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย มีโรงพยาบาลหลัก 5 แห่ง รวม 833 เตียง และยังมีเครือข่ายโรงพยาบาลอีก 17 แห่งทั่วประเทศ ที่ราคาหุ้นละ 38.00 บาท มูล่าระดมทุน 3,230 ล้านบาท มูลค่ามาร์เก็ตแคป 32,265.04 ล้านบาท (7 ธ.ค. 2560)
โดยมีการถือลงทุนในธุรกิจเดียวกันเกิน 50 % คือ บริษัท ทันตสยาม จำกัด จำนวน 3.17 ล้านหุ้น (99.42%) , บริษัทศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลธนบุรี จำกัด จำนวน 9,998 หุ้น (99.98%), บริษัท ธนราษฎร์ทุ่งสง จำกัด (มหาชน) เป็นรพ.ขนาดใหญ่ในนครศรีธรรมราช จำนวน 30,669 หุ้น (51.11%)
บริษัท ธนราษฎร์ยินดี จำกัด (มหาชน) เป็นรพ.ขนาดใหญ่ในสงขลา จำนวน 244,734 หุ้น (56.91 %) ,บริษัท โรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง จำกัด (เดิมคืออาคารห้างโซโห) จำนวน 48 ล้านหุ้น (99.99% ) และ บริษัท โรงพยาบาลอุตรดิตถ์ธนบุรี จำกัด เป็นรพ.เฉพาะทาง จำนวน 11,999 หุ้น (99.99%) , บริษัท ธนบุรี เวลบีอี้ง จำกัด ธุรกิจโครงการจิณณ์เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้ ที่พักอาศัยครบวงจรสำหรับผู้สูงวัย (99.99%)
อย่างไรก็ตาม ปี 2564 มูลค่ามาร์เก็ตแคป THG อยู่ที่ 26,764 ล้านบาท หลังราคาหุ้นต่ำกว่าราคาไอพีโอมาอย่างต่อเนื่อง จนสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาหุ้น THG ปรับขึ้นชัดเจนจากราคา 29.00 บาท (9 ก.ค.) มาทำราคาสูงสุด 34.50 บาท (15 ก.ค.) เป็นการเพิ่มขึ้นระยะเวลา 4 วันทำการ เกือ[ 19 %
ผลประกอบการ 3 ปีย้อนหลัง (2561-2563) รายได้ 7,094 ล้านบาท 8,232 ล้านบาท 7,315 ล้านบาท ตามลำดับ มีกำไรสุทธิ 348 ล้านบาท 462 ล้านบาท และ 62 ล้านบาทตามลำดับ
สำหรับ ไตรมาส 1 ปี 2564 มีรายได้ 1,566 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 215 ล้านบาท เป็นการลดลงจากธุรกิจหลักทั้งธุรกิจบริการการแพทย์ และธุรกิจบริบาลผู้ป่วยและเครื่องมือแพทย์ และมีกำไรสะสม 863 ล้านบาท และมีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด 970 ล้านบาท มีหนี้สินรวม 12,096 ล้านบาท มีสินทรัพย์รวม 20,225 ล้านบาท
ช่วง ปี 2564 ทาง “กรุงเทพธุรกิจ” เก็บข้อมูลการเข้าซื้อ-ขายหุ้น(แบบรายงาน 59) ในตลาดหุ้น ในนาม “หมอบุญ” และคู่สมรส ปรากกมีการเข้า “ซื้อ” หุ้นต่อเนื่อง ซึ่งมีรายการซื้อหุ้นรวม 190 ล้านบาท อยู่ระหว่างช่วงราคาหุ้น 25-29.50 บาท ส่วนรายงานการ “ขาย” หุ้น มีทั้งสิ้น 133.47 ล้านบาท ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. 2564 ที่ราคาหุ้น 23 บาท