วันที่ 18 มีนาคม 2564 นางดาเรศร์ กิตติโยภาส ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะลงพื้นที่ติดตามการขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดหลังนาผ่านระบบสหกรณ์ ที่แปลงนาของนายปริญญา สายทอง หนึ่งในสมาชิกสหกรณ์การเกษตรบ้านหม้อ จำกัด อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์ และเข้าร่วมโครงการดังกล่าวฯ งดทำนาปรังปลูกข้าวโพด 13 ไร่
ทั้งนี้ สหกรณ์การเกษตรบ้านหม้อ จำกัด เป็นสหกรณ์ต้นแบบ เริ่มส่งเสริมเกษตรกรสมาชิกตั้งแต่ก่อนปีการผลิต 2561/62 ทำต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยยึดหลัก “การตลาดนำการผลิต” บริหารจัดการแบบครบวงจร เพื่อช่วยลดปริมาณผลผลิตข้าวนาปรัง ส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อย โดยสหกรณ์รับซื้อผลผลิตทุกเมล็ดและได้ราคาตามคุณภาพผลผลิต พร้อมทั้งใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในแปลงข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อลดต้นทุนการผลิต
- สำนักพุทธฯบุกวัดป่า หลังมีคลิปคำสอนเพี้ยนให้เสพเมถุน
- ไฟป่าแม่ฮ่องสอนพุ่งสูง-นกแอร์ยกเลิกเที่ยวบิน
- ประกาศตามหาลูกชายวัย14 น้อยใจแม่ด่าหนีออกจากบ้าน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางดาเรศร์ ให้ความสนใจและสอบถามเกษตรกรเจ้าของแปลงและเจ้าหน้าที่สหกรณ์ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ถึงการขับเคลื่อนส่งเสริมการปลูกข้าวโพดหลังนาผ่านระบบสหกรณ์ พร้อมดูความพร้อมของสหกรณ์ในการรับซื้อผลผลิต ก่อนส่งต่อเข้าโรงงานอาหารสัตว์ โดยนายบัญชา เมฆนุ้ย ประธานกรรมการฯและ น.ส.ศศิวิมล เผือกพูล ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรบ้านหม้อ จำกัด นำชมและให้ข้อมูล
นางดาเรศร์กิตติโยภาส ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า ด้วยสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และส่งผลกระทบต่อเกษตรกร เนื่องด้วยน้ำระบบชลประทานและแหล่งน้ำต่างๆเริ่มลดลง มีน้ำสำรองค่อนข้างน้อย จึงได้มีการส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาปลูกพืชใช้น้ำน้อย ลดการทำนาปรัง ซึ่งข้าวโพดหลังนาผ่านระบบสหกรณ์เป็นอีกหนึ่งโครงการของรัฐบาล
โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ส่งเสริมสนับสนุน จังหวัดอุตรดิตถ์ มีสหกรณ์การเกษตรบ้านหม้อ จำกัด เป็นต้นแบบส่งเสริมให้สมาชิกเกษตรกร ปลูกข้าวโพดหลังนามาอย่างต่อเนื่อง และพบว่าเนื่องจากเกษตรกรมีความพึงพอใจ ต่อผลผลิตและรายได้ซึ่งดีกว่าการทำปลูกข้าว ขณะเดียวกันยังมีแหล่งรับซื้อใกล้ชุมชน
นายบัญชา เมฆนุ้ย ประธานกรรมการสหกรณ์การเกษตรบ้านหม้อ จำกัด กล่าวว่า สหกรณ์การเกษตรบ้านหม้อ จำกัด มียอดการรวบรวมผลผลิตข้าวโพดจากสมาชิกเพิ่มอย่างต่อเนื่องแบบก้าวกระโดด ปี 2562 มากกว่า 15 ล้านบาท และปี 2563 กว่า 37 ล้านบาท และปี 2564 เฉพาะช่วงแล้งมีพื้นที่ปลูกกว่า 3,000 ไร่ ผลผลิตประมาณ 1,300 กิโลกรัม รายได้เฉลี่ย 7,800 บาทต่อไร่ ต้นทุนเฉลี่ยต่อไร่ 4,580 บาท กำไรต่อไร่ 3,220 บาท ซึ่งถือว่าดีกว่าการปลูกข้าว ที่สำคัญใช้น้ำน้อย
ที่สหกรณ์ เน้นผลิตข้าวโพดที่มีคุณภาพ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้เพิ่มขึ้น พร้อมทั้งสนับสนุน เทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น รถตั๊กแตนฉีดพ่นสารชีวภัณฑ์ รถไถเดินตามกลบวัชพืช พร้อมใส่ปุ๋ย รถเก็บเกี่ยว เครื่องคัดแยกคุณภาพข้าวโพด และลดการเผาต้นข้าวโพด แกนข้าวโพด ได้ประสาน มหาวิทยาลัยราชภัฎอุตรดิตถ์ ในการจัดทำเป็นถ่านชีวภาพ หรือถ่านไบโอชา
ด้านของผลผลิตนั้นโดยสหกรณ์รับซื้อทุกเมล็ดและได้ราคาตามคุณภาพผลผลิต กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ทำข้อตกลงกับบริษัทผู้ผลิตอาหารสัตว์ในการให้สหกรณ์นำข้าวโพดไปขายให้กับโรงงานอาหารสัตว์ที่อยู่ใกล้กับพื้นที่แหล่งผลิตข้าวโพด เพื่อประหยัดค่าขนส่ง ปัจจุบันสหกรณ์การเกษตรบ้านหม้อ จำกัด ได้ต่อยอดโดยลงทุนจัดซื้อเครื่องปรับปรุงคัดแยกคุณภาพข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งจะสามารถดำเนินการคัดแยกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เมล็ดใหญ่ เมล็ดเล็ก เมล็ดแตก แยกฝุ่นละออง ขี้ลีบเมล็ด และซัง (แกนข้าวโพด) จำหน่ายไป ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ถือว่า บริการจัดการครบวงจร สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าข้าวโพดและจำหน่ายได้ในราคาสูงขึ้น ทำให้สหกรณ์เป็นองค์กรที่เป็นพึ่งให้กับสมาชิกเกษตรกรได้
เรื่องโดย บุญพิมพ์ ใบยา | ภาพโดย บุญพิมพ์ ใบยา