เผยแพร่:
ปรับปรุง:
อาหาร – น้ำ – พลังงาน คำสั้น ๆ ที่เต็มไปด้วยความหมาย เพราะเป็นรากฐานของความกินดี อยู่ดี อันนำไปสู่ความมั่นคงของประเทศในภาพรวม หรือกระทั่งรับมือวิกฤติขาดแคลนของโลกในอนาคต และกุญแจดอกสำคัญที่ไขประตูสู่การบริหารจัดการทั้ง 3 องค์ประกอบ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนได้สำเร็จคือ ‘องค์ความรู้’
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จึงได้มีส่วนรวมจัดตั้งแหล่งส่งต่อองค์ความรู้เกี่ยวกับ อาหาร – น้ำ – พลังงาน สู่ชุมชน และประชาชนทั่วประเทศ ภายใต้ ‘ศูนย์ศึกษาและพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง’ ที่เปิดอย่างเป็นทางการแล้ววันนี้ 3 แห่ง ได้แก่ เขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี เขื่อนภูมิพล จ.ตาก และ กฟผ.แม่เมาะ จ.ลำปาง และในอนาคตมีแผนเปิดที่เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ เขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น เขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ โรงไฟฟ้าวังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา และโรงไฟฟ้าบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา อีก 7 แห่ง รวม 10 แห่งทั่วไทย
มุ่งต่อยอด ‘โครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน’ ที่ กฟผ. น้อมนำปรัชญาพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มาส่งเสริมชุมชนโดยรอบพื้นที่เขื่อนและโรงไฟฟ้า ให้มีชีวิตอยู่อย่างพอประมาณ พึ่งพาตนเองได้ ลดใช้สารเคมี ตามวิถีภูมิปัญญาท้องถิ่น อย่างยั่งยืน ต่อเนื่องเป็นเวลามากกว่า 20 ปี ผสมผสานกับการประยุกต์ใช้ที่ดินตามศาสตร์พระราชา ‘โคก หนอง นา โมเดล’ เกษตรทฤษฎีใหม่ ด้วยหลักกสิกรรมธรรมชาติอย่างยั่งยืน
สิบตาดูหรือจะสู้ลงมือทำ ภายในศูนย์ฯ จึงได้มีการจัดสรรพื้นที่ให้ทดลองทำจริง โดยมีครูพาทำ ผ่านฐานการเรียนรู้หลากหลายตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ อาทิ ปูพื้นความยั่งยืนทาง ‘อาหาร’ ด้วยส่งต่อองค์ความรู้เกี่ยวกับการปลูกป่า 3 อย่าง ไม้กิน ไม้ใช้สอย และไม้สร้างบ้านเรือนบนโคก ในฐานคนรักษ์ป่า พร้อมเรียนรู้เกี่ยวกับการทำปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ ปลูกผักปลอดสารพิษ ในฐานคนรักษ์แม่ธรณี และเรียนรู้การทำนาข้าวอินทรีย์ ในฐานคนรักษ์แม่โพสพ
เพราะน้ำคือชีวิต ศาสตร์การจัดการและอนุรักษ์ ‘น้ำ’ โดยหลักธรรมชาติ ในฐานคนรักษ์น้ำ จึงส่งต่อองค์ความรู้เกี่ยวกับ การขุดคลองไส้ไก่ แหล่งน้ำประเภทหนอง เพื่อกักเก็บน้ำสำหรับใช้ในการเพาะปลูก นอกจากนั้นยังมีองค์ความรู้เกี่ยวกับโครงการฝนหลวง เครื่องดักหมอก และการบำบัดน้ำเสีย
อีกสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้คือเรื่องของ ‘พลังงาน’ ที่ตั้งใจผ่านองค์ความรู้ เกี่ยวกับการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนในพื้นที่ ด้วยการนำเศษอาหารและมูลสัตว์มาหมักเป็นก๊าซชีวภาพเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงแทนก๊าซหุงต้มภายในครัวเรือน หรือจะเป็นการติดตั้งเครื่องสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ ตลอดจนการปลูกพืชพลังงาน เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงชีวมวล
กฟผ. มุ่งมั่นพัฒนาด้านพลังงาน และพร้อมมีส่วนร่วมส่งเสริมคุณภาพชีวิต คุณภาพน้ำ และคุณภาพอากาศ ที่ดีกว่าเพื่อคนไทย สู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทยและโลก