ศกพ. เผย 11 จว. ฝุ่น ยังคลุ้งทั่วเมือง จุดความร้อน ลด 35% แต่ห่วงหมอกควันข้ามแดน
เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 22 มีนาคม น.ส.พิมพิกา โพธิสาโร รองโฆษกศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) แถลงรายงานสถานการณ์คุณภาพอากาศ พบปริมาณ PM2.5 ในประเทศพบเกินค่ามาตรฐานในจังหวัดเชียงราย แม่ฮ่องสอน พะเยา เชียงใหม่ น่าน ลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก และ จ.อุบลราชธานี
น.ส.พิมพิกา กล่าวอีกว่า ภาคเหนือเกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ ตรวจวัดได้ 36 – 177 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร(มคก./ลบ.ม.) (ค่ามาตรฐาน50มคก./ลบ.ม.) ฝุ่นละอองมีแนวโน้มลดลง พบสูงเกินเกณฑ์มาตรฐานรวม 15 พื้นที่ และอยู่ในเกณฑ์มีผลกระทบต่อสุขภาพ 2 พื้นที่ พบปริมาณฝุ่นละอองสูงสุดที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ตรวจวัดได้ 177 มคก./ลบ.ม. อย่างไรก็ตามพื้นที่ภาคเหนือยังต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากเริ่มพบแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของจุดความร้อนเล็กน้อย พบจุดความร้อนใน 17 จังหวัดภาคเหนือ 1,063 จุด สูงสุดที่จ.แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เพชรบูรณ์ แพร่ และ ลำปาง ทั้งนี้คาดว่าใน 2-3 วันข้างหน้าอากาศยกตัวได้ดี แนวโน้มการสะสมของฝุ่นละอองลดลง
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เกินค่ามาตรฐาน 1 พื้นที่ ตรวจวัดได้ 19 – 56 มคก./ลบ.ม. ภาคกลางและภาคตะวันตก ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดี ตรวจวัดได้ 12 – 40 มคก./ลบ.ม. ภาคตะวันออก ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ตรวจวัดได้ 11 – 28 มคก./ลบ.ม. ภาคใต้ ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ตรวจวัดได้ 10 – 31 มคก./ลบ.ม.
กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยสถานีตรวจวัดของกรมควบคุมมลพิษ ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดี ตรวจวัดได้ 19 – 40 มคก./ลบ.ม.
“อย่างไรก็ตามในภาพรวมของปีนี้ ผลของความพยายามร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้จำนวนจุดความร้อนสะสมของไทยในปีนี้ลดลง 35% และ ค่าฝุ่นละอองสูงสุดลดลง 10% จากปีที่แล้ว”
น.ส.พิมพิกา ระบุอีกว่า ทั้งนี้จากแนวโน้มของสถานการณ์จุดความร้อนในภูมิภาคแม่โขงที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็กปกคลุมในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย รมว.ทส. ได้สั่งการให้ ทส. ประสานเพื่อนบ้านอย่างใกล้ชิด โดยกรมควบคุมมลพิษได้ประสานไปยังสำนักเลขาธิการอาเซียน ผ่านแบบฟอร์มของ ASEAN SOP เพื่อขอความร่วมมือประเทศเพื่อนบ้านในการลดการเผาในที่โล่ง และเร่งการดับไฟ และเน้นย้ำประเทศในภูมิภาคแม่โขงให้ร่วมกันดำเนินมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผาในที่โล่งอย่างเข้มงวดเพื่อลดจุดความร้อนในภูมิภาค รวมถึงกำลังดำเนินการเพื่อจัดส่งจดหมายอย่างเป็นทางการไปยังสำนักเลขาธิการอาเซียนเพื่อเน้นย้ำในการขอความร่วมมืองประเทศเมียนมา สปป.ลาว และกัมพูชา ในการลดหมอกควันข้ามแดนในภูมิภาคแม่โขงโดยเร็ว