เผยแพร่: ปรับปรุง: โดย: ผู้จัดการออนไลน์
เมืองไทย 360 องศา
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศคำสั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรื่อง ข้อกำหนดออกตามความใน มาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2548 (ฉบับที่ 28) โดยมีการปรับปรุงเขตพื้นที่จังหวัดตามพื้นที่สถานการณ์ ปรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยเพิ่ม จ.ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และ อยุธยา รวมเป็น 13 จังหวัด จากเดิม 10 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพฯ นครปฐม นราธิวาส นนทบุรี ปทุมธานี ปัตตานี ยะลา สมุทรปราการ สมุทรสาคร และ สงขลา โดยห้ามเดินทางที่ไม่จำเป็นห้ามออกนอกเคหสถาน หรือที่พำนัก ตั้งแต่เวลา 21.00-04.00 น.ของวันรุ่งขึ้น ต่อเนื่องเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 14 วัน นับตั้งแต่วันที่ข้อกำหนดฉบับนี้ใช้บังคับ หากผู้ใดฝ่าฝืนข้อนี้ ย่อมมีความผิด และต้องระวางโทษตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2548
ส่วนพื้นที่ควบคุมสูงสุดจาก 24 จังหวัด เพิ่มเป็น 43 ประกอบ ด้วย กระบี่ กาญจนบุรี กาฬสินธุ์ กำแพงเพชร ขอนแก่น จันทบุรี ชัยนาท ชัยภูมิ เชียงราย เชียงใหม่ ตรัง ตราด ตาก นครนายก นครราชสีมา นครศรีธรรมราช นครสวรรค์ บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี พัทลุง พิจิตร พิษณุโลก เพชรบุรี เพชรบูรณ์ มหาสารคาม ยโสธร ร้อยเอ็ด ระนอง ระยอง ราชบุรี ลพบุรี ลำปาง ลำพูน เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สตูล สมุทรสงคราม สระแก้ว สระบุรี สิงห์บุรี สุโขทัย สุพรรณบุรี สุรินทร์ หนองคาย หนองบัวลำภู อ่างทอง อุดรธานี อุทัยธานี อุตรดิตถ์ อุบลราชธานี และ อำนาจเจริญ
ส่วนพื้นที่ควบคุมจากเดิม 25 จังหวัด ปรับเป็น 10 จังหวัด ประกอบด้วย ชุมพร นครพนม น่าน บึงกาฬ พังงา แพร่ พะเยา มุกดาหาร แม่ฮ่องสอนและสุราษฎร์ธานี ส่วนพื้นที่เฝ้าระวังสูง 1 จังหวัดประกอบด้วย ภูเก็ต
นอกจากนี้ การกำหนดเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคม และการตรวจการคัดกรองการเดินทางเฉพาะเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุด และเข้มงวด เพื่อประโยชน์ในการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ให้พนักงานเจ้าหน้าที่โดยการสนับสนุนจากศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง กระทรวงมหาดไทย กรุงเทพฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งจุดตรวจ ด่านตรวจ หรือจุดสกัด ในเส้นทางคมนาคม เข้าและออกเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุด และเข้มงวดตามข้อกําหนดนี้ โดยเน้นการปฏิบัติ เพื่อการคัดกรอง ชะลอ หรือสกัดกั้นการเดินทางออกนอกเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดเพื่อเดินทางไปยังพื้นที่อื่น โดยให้เป็นไปตามแนวทางที่ศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) กําหนด เป็นระยะเวลาต่อเนื่องอย่างน้อย 14 วัน
ส่วนการขนส่งสาธารณะ ให้กระทรวงคมนาคม กรุงเทพฯ จังหวัด หรือหน่วยงาน ที่รับผิดชอบกํากับดูแลการให้บริการขนส่งผู้โดยสารสาธารณะทุกประเภทในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุด และเข้มงวด และการขนส่งสําธารณะทุกประเภทระหว่างจังหวัดทั่วราชอาณาจักรให้เป็นไปตามแนวทาง ที่ ศปก.ศบค. กําหนด โดยจํากัดจํานวนผู้โดยสารที่ใช้บริการไม่เกินร้อยละ 50 ของความจุผู้โดยสารสําหรับยานพาหนะแต่ละประเภท รวมทั้งจัดให้มีการเว้นระยะห่างและการปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้ มาตรการควบคุมจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค. เป็นต้นไป ยกเว้นเฉพาะมาตรการทางด้านขนส่ง ที่จะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ วันที่ 21ก.ค.เป็นต้นไป
แน่นอนว่า นี่คือ มาตรการควบคุมที่เข้มข้นมากกว่าเดิม โดยเฉพาะการขยายพื้นที่การควบคุมที่เพิ่มเติมขึ้นอีก 3 จังหวัด ที่มีแนวโน้มการระบาดของเชื้อโควิดมากขึ้นเรื่อยๆ หลังจากที่มีการ “ล็อกดาวน์” มานานนับสัปดาห์ แต่ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รวมไปถึงตัวเลขผู้เสียชีวิต ที่ยังเป็นหลักร้อยรายต่อวัน
แม้ว่าในความเป็นจริง ตัวเลขผู้ติดเชื้อจะได้ผลจริงหรือไม่ หรือมีจำนวนลดลง จะต้องไปอีกราวหนึ่งสัปดาห์ แต่ยิ่งล็อกดาวน์นานออกไปเท่าไหร่ ชาวบ้านก็ยิ่งเจ็บปวดเดือดร้อนมากขึ้นตามไปด้วย และที่สำคัญ รอบนี้มัน “ทนไม่ไหว” กันแล้ว เพราะระยะเวลายืดเยื้อทอดยาวเกินกว่าจะรับได้ และที่สำคัญในความเป็นจริงก็คือ ไม่ใช่ว่าล็อกดาวน์แล้วทุกอย่างจะจบ นั่นคือ มันเป็นเพียงแค่ทำให้ “ตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลง” เท่านั้น ไม่ใช่ทำให้ “เชื้อโรคหายไป”
ดังนั้นเมื่อ “คลายล็อก” คราใด ตัวเลขผู้ติดเชื้อก็ยังมีโอกาสกลับมาเพิ่มสูงขึ้นได้อีก หรือมี “เชื้อกลายพันธุ์ชนิดใหม่” มาอีก และจะต้องล็อกดาวน์กันแบบไม่สิ้นสุดอย่างนั้นหรือไม่
สิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการมากที่สุดในเวลานี้ ก็คือ เร่งเจรจาเพื่อจัดซื้อวัคซีนทุกชนิดที่องค์การอนามัยโลกรับรอง และยี่ห้อที่ขึ้นทะเบียนกับองค์การอาหารและยา ทั้งหมดเข้ามาโดยเร็วที่สุด ไม่ว่าจะเป็น “วัคซีนหลัก” หรือ “วัคซีนทางเลือก” เพราะเมื่อวัคซีน “ไม่มาตามนัด” อย่างที่ปรากฏเป็นข่าว คือ วัคซีน “แอสตร้าเซนเนก้า” ที่เคยตกลงกันไว้ว่าจะส่งมอบในเดือน ก.ค.10 ล้านโดส กลายเป็นมาแค่ 5-6 ล้านโดส ทำให้ทุกอย่าง “รวนไปหมด”
เพราะนาทีนี้เป็นความเข้าใจตรงกันแล้วว่า มีแต่วัคซีนเท่านั้นที่เป็นความหวัง และแม้จะรับรู้กันอีกว่า วัคซีนจะไม่อาจป้องกันการติดเชื้อโควิดได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่สามารถป้องกันการ “ป่วยหนัก” และลดการเสียชีวิตลงได้ในระดับเกือบเกินกว่าร้อยละเก้าสิบ
ดังนั้นเมื่อสถานการณ์ด้านวัคซีนเปลี่ยนไป นั่นคือ “วัคซีนหลัก” คือ แอสตร้าเซนเนก้า ไม่มาตามนัด ขณะที่อีกยี่ห้อ คือ “ซิโนแวค” ถูกด้อยค่า แต่ประเด็นสำคัญก็คือเวลานี้ “วัคซีนมันขาดมือ” มาช้า ไม่ทันกับสถานการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อที่พุ่งกระฉูด
สิ่งที่รัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะมีอำนาจในสถานการณ์ฉุกเฉิน และ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข ต้องปรับยุทธศาสตร์อย่างเร่งด่วน นั่นคือ ต้องทำทุกทางเพื่อระดมนำเข้าวัคซีนทุกยี่ห้อเข้ามาให้เพียงพอ โดยเฉพาะวัคซีน “ทางเลือก” นาทีนี้ต้องกลายมาเป็นวัคซีนหลัก หรือไม่ก็ต้อง “ไฟเขียว” ให้นำเข้ามา “ฉีดฟรี” แล้ว
ขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่งก็ ต้องรีบแถลงให้ชัดว่า สั่งแล้วมาวันไหน เดือนไหน ทั้ง “วัคซีนเทพ” วัคซีนทางเลือกทั้งหลาย แถลงย้ำๆ ซ้ำๆ ให้ชาวบ้านได้เข้าใจ เพราะหากจำได้สำหรับ “ไฟเซอร์” และ “โมเดอร์นา” จะเข้ามาราวเดือน ต.ค. เป็นต้นไป ถึงต้นปีหน้า แต่หากใครอยากฉีดซิโนฟาร์ม และ ซิโนแวค จะสั่งเข้ามาได้เลยหรือไม่ หรือเร็วที่สุดได้เมื่อไหร่ ต้องให้โฆษกแถลงให้ชัดเจนทันที
เพราะนาทีนี้ วัคซีนถือว่าเป็นทางออกเดียวที่น่าจะ “เอาอยู่” ควบคู่ไปกับการ “ล็อกดาวน์” ไปสักระยะหนึ่ง แต่ตราบใดที่คนไทยยังเข้าไม่ถึงวัคซีนในวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นยี่ห้ออะไรก็ตาม หากยังฉีดได้วันละหลักสองแสนคน (เกือบทั้งหมดเป็นผู้สูงอายุและคนป่วย) มันก็วิกฤตกว่านี้หลายเท่า ดังนั้น ยี่ห้อไหนวิธีไหนก็ได้ รีบระดมนำเข้ามาเถอะ เพราะไม่เช่นนั้นก็จะต้องล็อกดาวน์และเจ็บกันไม่รู้จบ !!