“ผลที่เราได้จากการฝึกสมาธิ นั้น ทำให้เราหมั่นขยันในการงาน มีการเรียน การศึกษา เป็นต้น” สารธรรมมงคล พระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย) วัดป่าสาลวัน จ.นครราชสีมา
“วัดปากอ่าว” เป็นวัดสำคัญวัดหนึ่งในเขต อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี ตั้งอยู่บริเวณฝั่งตะวันออกของแม่น้ำบางตะบูน เดิมชาวบ้านเรียกว่า “วัดนอก” คู่กับวัดปากลัด (ฝั่งตำบลบางตะบูน) ซึ่งเรียกว่าวัดใน
เจ้าอาวาสรูปแรก ชื่อ พระครูญาณสาคร (แฉ่ง สำเภาเงิน) เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของชาวเพชรบุรี ดังนั้น พระครูสิริวัชรสาคร (บุญส่ง อัตตทีโป) เจ้าอาวาสได้จัดสร้าง “เหรียญหลวงพ่อแฉ่ง รุ่นสร้างวิหาร” เพื่อให้ผู้ที่เลื่อมใสศรัทธาได้สักการบูชา
เหรียญ หลวงพ่อแฉ่ง รุ่นสร้างวิหาร เป็นเหรียญรูปไข่ ไม่มีหูห่วง จำนวนการจัดสร้างไม่ได้ระบุไว้อย่างชัดเจน แต่มีจำนวนไม่มาก จัดสร้างเป็นเนื้อเงิน เนื้อนวโลหะ เนื้อทองแดงรมดำ และเนื้อทองแดง ด้านหน้าเหรียญเป็นรูปเหมือนครึ่งบน ด้านบนเขียนเป็นชื่อ “พระครูญาณสาคร (แฉ่ง สำเภาเงิน)” ด้านล่างใต้เขียนคำว่า “วัดปากอ่าวบางตะบูน” ด้านหลังเหรียญ เป็นยันต์เมตตา แคล้วคลาด ใต้ยันต์เขียนคำว่า “รุ่นสร้างวิหาร พ.ศ.๒๕๔๘” เหรียญรุ่นดังกล่าว ประกอบพิธีพุทธาภิเษกใหญ่ นิมนต์พระเกจิอาจารย์ทั้งสายใต้และสายเหนือ เข้าร่วมพิธีจำนวนมาก โดยเฉพาะพระเกจิอาจารย์ในเพชรบุรี รายได้ทั้งหมดทางวัดนำไปจัดสร้างวิหาร
อีกเหรียญมงคลที่ยอดนิยมคือ “เหรียญหลวงพ่อรุ่ง ติสสโร” หรือ พระไพโรจน์วุฒาจารย์ วัดท่ากระบือ ต.บางยาง อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร โดยเฉพาะ “เหรียญหลวงพ่อรุ่ง รุ่นแรกปี พ.ศ.2484” เนื้อนาก และเหรียญทองคำ ทั้งสองเนื้อถือว่าสุดยอดหายาก เซียนพระนิยมเรียกขานกันว่า “เหรียญหลวงพ่อรุ่ง พิมพ์หน้าแก่”
มีผู้รู้ในวงการพระเครื่องฟันธงว่า ปัจจุบันเหรียญหลวงพ่อรุ่ง เนื้อนาก น่าจะเหลือไม่เกิน 8 เหรียญ ส่วนเหรียญทองคำ เหลือเพียง 1 เหรียญเท่านั้น ทำให้มีผู้นิยมเสาะหามาครอบครอง โดยค่าเช่าหาสูงลิบ เหรียญหลวงพ่อรุ่งรุ่นแรก ลักษณะเหรียญคล้ายหยดน้ำ มีหูเชื่อม ด้านหน้าเหรียญ เป็นรูปเหมือนหลวงพ่อรุ่งครึ่งองค์ หันหน้าตรง จารึกข้อความ “พระ ครู รุ่ง” จากมุมซ้าย-บน และขวา ตามลำดับ ด้านใต้รูปเหมือนเขียนคำว่า “วัดท่ากระบือ” ด้านหลังเหรียญ เป็นยันต์และอักขระคาถาอาคม เขียนตัวเลขไทยว่า “๒๔๘๔” ปัจจุบันหายาก
“พระพิมพ์สมเด็จ” หลวงปู่ทองดำ ฐิตวัณโณ อดีตพระเกจิอาจารย์ชื่อดังวัดท่าทอง จ.อุตรดิตถ์ ผสมเนื้อผงพุทธคุณและผงพระกรุโบราณต่างๆ มากมาย สร้างไว้เมื่อปี 2523 นับเนื่องถึงปัจจุบัน เป็นเวลา 34 ปีเต็ม ด้านหน้าเป็นพิมพ์พระสมเด็จอยู่ในครอบแก้ว ด้านหลังปั๊มยันต์และคำว่า “พระนิมมานโกวิท วัดท่าทอง” และ ชิ้นส่วนจีวรเก่า อีกรุ่นหนึ่งที่น่าเก็บมาก
อริยะ เผดียงธรรม