มหกรรมกีฬาของชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือซีเกมส์ ครั้งที่ 32 ในปีนี้ ที่กัมพูชาเป็นเจ้าภาพ ได้ส่งชื่อให้คณะกรรมการจัดการแข่งขันโดยใช้ชื่อกีฬามวยว่า “กุน ขแมร์” (Kun Khmer) แทนกีฬา “มวยไทย” หรือ “มวย” ที่ใช้ในซีเกมส์บางปี
หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ พนมเปญโพสต์ รายงานว่า วัธ จำเริน เลขาธิการคณะกรรมการโอลิมปิกกัมพูชาและกรรมการจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ของกัมพูชา ระบุว่า การตัดสินใจดังกล่าวมาจากความเห็นของสาธารณะและได้แจ้งต่อคณะกรรมการโอลิมปิกของแต่ละชาติที่ร่วมแข่งขันกีฬาซีเกมส์แล้ว
“เราได้บอกคณะกรรมการว่า เราจะแทนที่ ‘มวยไทย’ ด้วย ‘กุน ขแมร์’ เมื่อเราเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน เราไม่สนใจว่าใครจะคิดอย่างไร เราตัดสินใจชัดเจนแล้วในฐานะเจ้าภาพ เราจะใช้กุน ขแมร์” พนมเปญโพสต์ รายงานคำกล่าวของวัธ จำเริน เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2566
ตามกฎบัตรของการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ประเทศเจ้าภาพทุกประเทศควรใช้คำว่า “มวย” ในกีฬา ที่มีการเตะต่อยคู่ต่อสู้
พนมเปญโพสต์ รายงานด้วยว่า ในการพิจารณาการใช้คำว่ากุน ขแมร์ ในตอนแรก ได้นำมาสู่เสียงวิจารณ์จากแฟนมวยชาวกัมพูชา พวกเขาเรียกร้องให้นำคำว่า “มวย” ออกไป เพราะเป็นคำที่มาจากคำว่า “มวยไทย”
ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการโอลิมปิกและพาราลิมปิกแห่งสหรัฐอเมริกา รับรองให้มวยไทยเป็นกีฬาสมาชิกใหม่อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2566 แต่ยังไม่ได้บรรจุในการแข่งขันโอลิมปิก
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะมวยไทย มวยเขมร หรือลาว เมียนมา รศ.ดร. ต่อศักดิ์ แก้วจรัสวิไล อาจารย์ประจำภาควิชาพลศึกษาและกีฬา คณะศึกษาศาสตร์และพัฒนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน กล่าวกับบีบีซีไทยว่า ก่อนการกำเนิดขึ้นของ “มวยไทย” ศิลปะการต่อสู้ของประเทศไทย ลาว เมียนมา กัมพูชา ต่างมีประวัติศาสตร์ร่วมกันมาตั้งแต่ยุคสมัยโบราณ
นักวิชาการด้านกีฬาของศูนย์ศิลปวัฒนธรรมและนวัตกรรมทางการศึกษามวยไทย อธิบายว่า เมื่อมีการแยกย้ายถิ่นฐานเป็นประเทศต่าง ๆ ศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวก็ถูกเรียกชื่อแตกต่างกันไปตามแต่ละประเทศ
อย่างกัมพูชามี “โบกาตอร์” หรือ “บ๊อกกาตาว”, เมียนมามี “และเหว่”, ส่วนลาว เรียก “มวยลาว” แต่สิ่งที่คล้ายคลึงกัน คือ การใช้หมัด หมัด เท้า เข่า ศอก ในการต่อสู้ป้องกันตัว
ประเด็นที่กัมพูชา เจ้าภาพซีเกมส์ปีนี้ส่งชื่อให้คณะกรรมการจัดการแข่งขันโดยใช้ชื่อว่า “กุน ขแมร์” ที่มีลักษณะคล้ายกับมวยนั้น รศ.ดร. ต่อศักดิ์ มองว่า การบรรจุกีฬาชนิดต่าง ๆ ต้องดำเนินการโดยมนตรีซีเกมส์เป็นผู้พิจารณา หากกัมพูชาดำเนินการถูกต้องก็สามารถจัดการแข่งขันได้
“เรากำลังคิดว่า เราถูกเปลี่ยนคำว่า ‘มวย’ เป็น ‘กุน ขแมร์’ ในเขมร หากเขาดำเนินการไม่ถูกต้อง ตามกฎกติกา ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องพิจารณาต่อไปว่าจะดำเนินการอย่างไร เช่น ประสานงานกับเจ้าภาพ หรือวิธีการอื่น ๆ คือ ไม่เข้าร่วมการแข่งขัน”
รศ.ดร. ต่อศักดิ์ กล่าวว่า กรณีนี้เทียบเคียงกับการแข่งขันซีเกมส์ครั้งก่อน ๆ ที่บางประเทศเจ้าภาพ บรรจุ “กีฬาประจำชาติ” ของตนในรายการชนิดกีฬาที่แข่งขันในตอนแรก แต่ท้ายที่สุดได้ถอนออกไป เนื่องจากไม่มีประเทศสมาชิกเข้าร่วมการแข่งขัน
จากการสืบค้น บีบีซีไทยพบว่า ในการเป็นเจ้าภาพกีฬาซีเกมส์ 2021 มีรายงานข่าวว่า เวียดนามจะเพิ่มกีฬาอีก 3 ชนิดเข้าไปในรายการแข่งขัน คือ เตะลูกขนไก่ (Shuttlecock Kicking) กระโดดน้ำ (Diving) และศิลปะการต่อสู้แบบเวียดนาม (Vovinam) แต่ท้ายที่สุดแล้ว ได้ถอนกีฬาเตะลูกขนไก่ออกไปในช่วงท้าย
รศ.ดร. ต่อศักดิ์ กล่าวว่า หากทีมชาติไทยจะส่งหรือไม่ส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขัน ต้องพิจารณาข้อดีข้อเสียในทุกมิติ แต่เชื่อว่าหากไทยส่งนักกีฬาเข้าแข่งขันก็มีโอกาสคว้าชัย เพราะพื้นฐานของมวยไทยทั่วโลกยอมรับว่ามีพื้นฐานดีที่สุดในโลก
“มวยเขมรเป็นมวยประชิดตัวที่มีการกอดรัดอยู่วงใน แต่มวยไทยเรามีชั้นเชิงอยู่วงนอก ใช้อาวุธ วิถีการต่อสู้แบบกอดรัดฟัดเหวี่ยงมวยไทยของเราก็มี ถ้าเราจะส่งไปแข่งขันกับเขา ต้องดูกติกาที่เขาระบุ เชื่อว่าถ้าเราส่งเข้าร่วม ผมคิดว่ามีโอกาสประสบความสำเร็จเช่นกัน”
“กุน ขแมร์” มวยเขมร จาก มรดกโลกยูเนสโก ปูทางมาซีเกมส์
เมื่อเดือน พ.ย. 2565 องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ขึ้นทะเบียน คุน ละบ๊อกกาตาว (Kun Lbokator) หรือ ศิลปะการต่อสู้ของกัมพูชา หรือที่รู้จักกันว่า “กุน แขมร์” (มวยเขมร) ในรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ
พนมเปญโพสต์รายงานว่า คุน ละบ๊อกกาตาว หรือบ๊อกกาตาว เป็นศิลปะการต่อสู้แบบโบราณที่ชาวเขมรใช้ป้องกันตัวจากสัตว์ป่า
รากศัพท์ บ๊อกกาตาว มาจากการผสมคำ คือ คำว่า บ๊อก (bok) ที่แปลว่า ทุบ กระแทก และ คำว่า ตาว (tao) หมายถึง สิงโต ซึ่งเป็นสัตว์ป่ากินเนื้อที่แข็งแรงที่สุดในตำนานเขมรโบราณ ท่าทางการต่อสู้ของศิลปะป้องกันตัวนี้ พบได้ในวัดที่สร้างมาตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 7
พนมเปญโพสต์รายงานด้วยว่า รัฐบาลกัมพูชาเตรียมเอกสารเพื่อยื่นต่อยูเนสโกในเรื่องนี้ตั้งแต่ปี 2008 ยื่นถึง 3 ครั้ง แล้วมาติดช่วงโควิด จนกระทั่งได้รับการประกาศในปี 2565
กัมพูชาจะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้ง 32 ที่กรุงพนมเปญ ระหว่าง 5-17 พ.ค. ปีนี้ โดยจัดให้ กุน ขแมร์ อยู่ใน 40 ชนิดกีฬาที่จะจัดด้วย
“มวยไทย” ทำไมยังไม่เป็นมรดกโลก
อาจารย์ประจำภาควิชาพลศึกษาและกีฬา คณะศึกษาศาสตร์ ม.เกษตรฯ ให้ความเห็นว่า เหตุที่ “มวยไทย” ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ เนื่องจากยังอยู่ในขั้นตอนว่าจะใช้ “มิติ” ใดในมวยไทย จะนำไปขึ้นทะเบียน
ทราบว่าขณะนี้ทางกระทรวงวัฒนธรรมกำลังเตรียมการ ซึ่งหากจะนำ “มวยไทย” ขึ้นทะเบียน อาจใช้มิติ การร่ายรำไหว้ครูมวยไทย ทักษะแม่ไม้มวยไทย ขึ้นทะเบียน ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทางวัฒนธรรม การออกกำลังกาย และสุขภาพ เป็นหลัก
“สิ่งที่สำคัญที่ควรเร่งดำเนินการ คือ ทำให้คนไทย โดยเฉพาะเยาวชนของชาติ ได้เรียนรู้ศิลปะมวยไทยทุก ๆ คน เพื่อเป็นการส่งเสริมมวยไทยอย่างยั่งยืน และลบภาพความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากการฝึกมวยไทย ทำให้มวยไทยเป็นของคนไทยทุกคน”
มวยไทย ในซีเกมส์ ไม่ได้มีทุกปี
มวยไทย กลายเป็นกีฬาที่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการเมื่อมีการจัดตั้งสหพันธ์มวยไทยนานาชาติ (IFMA) ในปี 2536 ซึ่งเป็นปีที่มีการจัดแข่งขันมวยไทยชิงแชมป์โลกเป็นครั้งแรก
ในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ มีการบรรจุมวยไทยเข้าในการแข่งขันเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2548 ที่ฟิลิปปินส์เป็นเจ้าภาพ โดยใช้ชื่อกีฬาว่า “มวย” (Muay) เท่านั้น แต่ในปี 2550 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพที่ จ.นครราชสีมา กีฬามวย ได้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “มวยไทย”
กีฬา มวย (ไทย) ไม่ได้มีในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ทุกปี ข้อมูลจากเว็บไซต์โอลิมปิก ระบุว่า มวยไทย มีการแข่งขันในซีเกมส์ปี 2550, 2556, 2562, 2565 (เลื่อนจาก 2564) ขณะที่ ซีเกมส์ปี 2552 ที่จัดขึ้นใน สปป. ลาว (เวียงจันทน์เกมส์ 2009) ปีนั้นใช้ชื่อกีฬาว่า “มวยลาว”
อย่างไรก็ตาม ในซีเกมส์ที่ลาวปี 2552 นายสันติภาพ อินทรพัฒน์ นายกสมาคมมวยไทยแห่งประเทศไทย ระบุในปีนั้นว่า ท้ายที่สุดไทยได้เรียกร้องให้เปลี่ยนชื่อ “มวยลาว” ให้เหลือคำว่า “มวย” เท่านั้น
“จริง ๆ แล้ว เจ้าภาพตั้งชื่อกีฬาชนิดนี้ว่ามวยลาว แต่ท้ายที่สุดเราได้เรียกร้องให้เปลี่ยนเป็นมวยเฉย ๆ” นายสันติภาพ กล่าว
ส่วนปี 2554 ซีเกมส์ที่อินโดนีเซีย และที่ สิงคโปร์ ปี 2558 ไม่มีการบรรจุการแข่งขันมวยไทยในรายการ
มวยไทยอาชีพ เกิดขึ้นครั้งแรกสมัยรัชกาลที่ 6
ข้อมูลจากสำนักการกีฬา กรมพลศึกษา ระบุว่า การจัดแข่งขันมวยไทยอย่างเป็นทางการหรือมวยไทยอาชีพ เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2464 ในสมัยรัชกาลที่ 6 ที่สนามมวยสวนกุหลาบ บริเวณโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยในปัจจุบัน นักมวยคู่แรกที่ชกกันคือ หมื่นมือแม่นหมัด นักมวยฝีมือดียุครัชกาลที่ 5 วัย 50 ปี กับ “ชื่อนายผ่อง ปราบสบก” นักมวยโคราช วัย 22 ปี
ก่อนมีการชกมวยคู่แรกอย่างเป็นทางการ ช่วงแรกเริ่มก่อนหน้านี้ มีการจัดชกมวย โดยให้นักมวยชกกันบนพื้นดิน ผู้ดูนั่งและยืนอยู่รอบบริเวณสังเวียนซึ่งกว้างกว่า 20 เมตร ส่วนนักมวยคาดเชือกที่มือด้วยด้ายดิบ และสวมมงคล
แต่หลังจากแข่งขันนัดแรก ผู้ชมดีใจวิ่งเข้าไปห้อมล้อมนักมวยผู้ชนะ ทำให้เกิดความไม่เป็นระเบียบ จึงมีการจัดสร้างสนามมวยใหม่ ยกพื้นสนามมวยขึ้นสูงประมาณ 4 ฟุต ปูลาดด้วยเสื่อจันทบูรณ์ มีเชือกกั้นเวที 2 เส้น เสาเชือกทาสีขาวเว้นช่องประตูไว้ตรงกันข้ามให้นักมวลขึ้นลง 2 ช่อง และมีบันไดก้าวขึ้นลง กรรมการตัดสินล้วนแต่งตัวเต็มยศแบบเสือป่า
พัฒนาการสำคัญอีกช่วงหนึ่งของมวยไทย คือ ในปี 2472 สมัยรัชกาลที่ 7 รัฐบาลมีคำสั่งให้การแข่งขันชกมวยไทยทั่วประเทศสวมนวมชกได้ โดยมีตัวอย่างการสวมนวมจากนักมวยฟิลิปปินส์ที่เข้ามาชกมวยสากลในประเทศไทย หลังจากเกิดกรณีที่นายแพ เลี้ยงประเสริฐ นักมวยฝีมือดีจากบ้านท่าเสา จ. อุตรดิตถ์ ได้ต่อนายเจีย แขกเขมรด้วยหมัดคาดเชือก จนเสียชีวิต
อย่างไรก็ตาม คำว่า “มวยไทย” มีมาใช้ในยุคหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี 2475 เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายชาตินิยม ในยุคที่มี น.ต.หลวงศุภชลาศัย เป็นอธิบดีกรมพลศึกษา มีการออกพระราชบัญญัติ มวยไทย ซึ่งแต่เดิมมวยไทยจะมีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไปตามท้องถิ่น เช่น มวยท่าเสา (ภาคเหนือของไทย) มวยโคราช, มวยไชยา, มวยลพบุรี รวมถึงการก่อสร้างเวทีมวยมาตรฐานจวบจนปัจจุบันคือ เวทีมวยลุมพินี และเวทีมวยราชดำเนิน