5 เม.ย. 64 – กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณอ่าวเบงกอลตอนล่างเคลื่อนเข้าสู่บริเวณทะเลอันดามัน ประกอบกับลมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมภาคใต้ฝั่งตะวันตกและทะเลอันดามันมีกำลังแรงขึ้น ทำให้มีฝนตกเพิ่มขึ้นและฝนตกหนักบางพื้นที่ ในห้วงวันที่ 31 มีนาคม 2564 – ปัจจุบัน (5 มีนาคม 2564 เวลา 06.00 น.) ส่งผลให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกในพื้นที่ 34 จังหวัด รวม 100 อำเภอ 252 ตำบล 686 หมู่บ้าน 1 เทศบาลเมือง บ้านเรือนประชาชนเสียหาย 3,825 หลัง ผู้เสียชีวิต 1 ราย (น่าน) ผู้บาดเจ็บ 5 ราย (น่าน 1 ราย สุรินทร์ 3 ราย พิจิตร 1 ราย)
แยกเป็น ภาคเหนือ 11 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ อุตรดิตถ์ พะเยา น่าน ลำปาง ตาก สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร และเพชรบูรณ์ รวม 42 อำเภอ 148 ตำบล 503 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนเสียหาย 2,910 หลัง ผู้เสียชีวิต 1 ราย ผู้บาดเจ็บ 2 ราย
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 12 จังหวัด ได้แก่ นครพนม เลย อุดรธานี สกลนคร หนองบัวลำภู ขอนแก่น ชัยภูมิ สุรินทร์ มุกดาหาร อุบลราชธานี ศรีสะเกษ และนครราชสีมา รวม 36 อำเภอ 59 ตำบล 98 หมู่บ้าน 1 เทศบาลเมือง บ้านเรือนประชาชนเสียหาย 633 หลัง ผู้บาดเจ็บ 3 ราย
ภาคกลาง 7 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี สระบุรี อ่างทอง และสมุทรปราการ รวม 15 อำเภอ 23 ตำบล 50 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนเสียหาย 130 หลัง
ภาคตะวันออก 4 จังหวัด ได้แก่ สระแก้ว ชลบุรี ปราจีนบุรี และฉะเชิงเทรา รวม 5 อำเภอ 11 ตำบล 31 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนเสียหาย 111 หลัง
รวมถึงพื้นที่กรุงเทพมหานคร รวม 1 เขต 1 แขวง
ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้วทุกจังหวัด ซึ่งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ประสานจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยสำรวจและประเมินความเสียหาย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลัง ทั้งการชดเชยความเสียหายของบ้านเรือนเป็นวัสดุก่อสร้าง หรือจ่ายเงินช่วยเหลือตามความเหมาะสม ท้ายนี้ ประชาชนสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM และสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป.