ภูมิภาค
ผู้ว่าฯเมืองลับแล-พระวินัยสาทร แถลงจัดงานนมัสการพระแท่นศิลาอาสน์ประจำปี 2566
วันเสาร์ ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2566, 18.49 น.
ติดตามข่าวด่วน กระแสข่าวบน Facebook คลิกที่นี่
เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณลานหน้าพระวิหารหลวง วัดพระแท่นศิลาอาสน์ พระอารามหลวง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ พระวินัยสาทร เจ้าคณะจังหวัดอุตรดิตถ์ – พิษณุโลก (ธ) เจ้าอาวาสวัดพระแท่นศิลาอาสน์ (พระอารามหลวง) ประธานฝ่ายสงฆ์ พร้อมด้วย นายสมหวัง พ่วงบางโพ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ ประธานฝ่ายฆราวาส นายศิวัช ฟูบินทร์ นายอำเภอลับแล และ นายสุรพันธ์ เจริญทรัพย์ วัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ ร่วมกันแถลงข่าวการจัดงานนมัสการพระแท่นศิลาอาสน์ ประจำปี พ.ศ. 2566 ซึ่งกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 มกราคม ถึงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2566 บริเวณวัดพระแท่นศิลาอาสน์ (พระอารามหลวง) เชื่อมโยงไปถึงบริเวณวัดพระยืนพุทธบาทยุคล และวัดพระนอน เพื่อเป็นการสืบสาน รักษาประเพณีการบูชาพระแท่นศิลาอาสน์ในวันเพ็ญเดือนสามของทุกปี ในการสืบทอดพระพุทธศาสนา และเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้กับประชาชน ชุมชน และจังหวัดอุตรดิตถ์
โดยมีกิจกรรมภายในงานต่างๆ มากมาย เช่น การไหว้พระกราบนมัสการพระแท่นศิลาอาสน์ พระยืนและพระนอนในบริเวณ 3 วัดเชื่อมโยงกัน การแสดงศิลปวัฒนธรรมสมโภช การกวนพุทราแขวนบาตร การถือศีลปฏิบัติธรรม การทำบุญตักบาตรพระร้อยรับรุ่งอรุณ และการเวียนเทียนพระแท่นศิลาอาสน์ ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2566 รวมทั้งไฮไลท์ในงานวัด การไหว้พระซื้อของฝากกลับบ้าน ที่มีร้านค้ากว่า 2,000 ร้าน ในงานดังกล่าวที่มีสินค้าพื้นถิ่นและอาหารทั่วทั้งภาคเหนือ มาจำหน่ายในงานนี้ และอย่าพลาดพิธีเปิดงานในปีนี้ วันที่ 25 มกราคม 2566 ชมขบวนเทิดพระเกียรติ ขบวนเครื่องสักการะ ขบวนแห่ศิลปวัฒนธรรมทั้งสามวัฒนธรรม (ล้านนา ล้านช้าง ไทยกลาง) จากทั้ง 9 อำเภอ ขบวนนางรำฟ้อนถวายพระแท่นศิลาอาสน์ 500 กว่าคน และชมการแสดงแสง สี เสียง ตำนานพระแท่นศิลาอาสน์
จึงขอเชิญชวนนักท่องเที่ยวฯ ผู้มาเยือนมาพำนัก และพุทธศาสนิกชนผู้สนใจมาเที่ยวงานนมัสการพระแท่นศิลาอาสน์ ประจำปี 2566 ระหว่างวันที่ 25 มกราคม ถึงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2566 มาไหว้พระ ซื้อของกลับบ้าน อิ่มบุญอิ่มใจ ได้ของฝากที่วัดพระแท่นศิลาอาสน์ อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์
พระวินัยสาทร เจ้าคณะจังหวัดอุตรดิตถ์ – พิษณุโลก (ธ) เจ้าอาวาสวัดพระแท่นศิลาอาสน์ (พระอารามหลวง) กล่าวว่า งานเทศกาลนมัสการพระแท่นศิลาอาสน์ ถือว่าเป็นประเพณีทำบุญไหว้พระแท่นศิลาอาสน์ มีมานานหลายชั่วอายุคนแล้ว มีผู้มาสักการบูชาทั้งในเทศกาลและนอกเทศกาลตลอดปีพุทธศาสนิกชนมีความเชื่อว่า การได้มาสักการบูชาพระแท่นศิลาอาสน์ จะได้รับอานิสงส์สูงสุด และ เช่นเดียวกับพระพุทธบาทสระบุรีพุทธศาสนิกชนผู้มีความศรัทธา จะขวนขวายมานมัสการให้ได้ครั้งหนึ่งในชีวิต ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ตอนเหนือจังหวัดอุตรดิตถ์ จะพยายามเดินทางมานมัสการ พระแท่นศิลาอาสน์ แม้ว่าหนทางจะทุรกันดารเพียงใดก็ไม่ย่อท้อถอย และเห็นว่า เป็นการได้สร้างบุญกุศลที่มีค่าควร การมานมัสการจะกระทำทุกครั้งที่เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันมาฆบูชา ณ วันเพ็ญ เดือนสาม
“งานเทศกาลนมัสการพระแท่นศิลาอาสน์ ณ วันเพ็ญเดือนสาม อันเป็นวันมาฆบูชา จะเริ่มตั้งแต่ วันขึ้น 8 ค่ำ ถึง วันขึ้น 15 ค่ำ เดือนสาม บรรดาพระภิกษุสงฆ์จะธุดงค์มาปักกลดพักแรมที่บริเวณใกล้วัด เมื่อถึงวันมาฆบูชา เวลาประมาณ 19.30 น. พระภิกษุสงฆ์จะเข้าไปในพระวิหาร แล้วสวดพระพุทธมนต์ มีพระธรรมจักรกัปปวัตตนสูตร เป็นต้น เมื่อเสร็จพิธีแล้ว ก็ออกมาให้ศีลให้พรแก่ผู้ที่มานมัสการพระแท่นศิลาอาสน์ ในตอนเช้าของทุกวันในระหว่างเทศกาลบรรดาพระสงฆ์ที่ธุดงค์มานมัสการ พระแท่นศิลาอาสน์ จะเดินทางเข้าไปบิณฑบาตตามหมู่บ้าน และบรรดาชาวบ้านจะนำอาหารมาถวายที่วัดอีกเป็นจำนวนมาก เมื่อพระฉันอาหารเสร็จแล้ว ชาวบ้านก็จะแบ่งปันอาหารร่วมรับประทานด้วยกัน รวมทั้งผู้ที่เดินทางมานมัสการพระแท่นศิลาอาสน์ด้วย นับว่าเป็นการทำบุญกลางแจ้งที่ยิ่งใหญ่เป็นประจำทุกปีเนื่องจากวัดพระนอนพุทธไสยาสน์ และวัดพระยืนพุทธบาทยุคล มีอาณาบริเวณอยู่ติดต่อกัน จึงจัดงานประจำปีพร้อมกันกับวัดพระแท่นศิลาอาสน์ ทำให้พุทธศาสนิกชนที่มาในงานเทศกาลนี้ได้ นมัสการพระบรมธาตุ และพระพุทธบาทด้วยเป็นการได้นมัสการพระพุทธเจดียสถาน อันเป็นที่เคารพสักการะ ได้ครบถ้วนในโอกาสเดียวกัน ยากจะหาที่ใดเสมอเหมือน”
พระแท่นศิลาอาสน์ในปี พ.ศ. 2483 เมื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้ดำริให้มีการออกแบบตราประจำจังหวัดต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์สำคัญของจังหวัดและนำเสนอสถานที่สำคัญของแต่ละจังหวัดให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางมากขึ้น คณะกรมการจังหวัดอุตรดิตถ์ จึงได้เสนอให้กรมศิลปากร นำรูปมณฑปพระแท่นศิลาอาสน์มาประดิษฐ์เป็นตราประจำจังหวัด ตรานี้จึงได้รับการออกแบบครั้งแรก โดยพระพรหมพิจิตร เขียนลายเส้นโดย นายอุณห์ เศวตมาลย์ ลักษณะเป็นรูปมณฑปพระแท่นศิลาอาสน์มีลายช่อกนกขนาบอยู่สองข้างในวงกลม ต่อมาทางราชการจึงเพิ่มรูปครุฑ และอักษรบอกนามจังหวัดว่า “จังหวัดอุตรดิตถ์” เข้าไว้ที่ส่วนใต้ภาพพระแท่นด้วย ซึ่งตราดังกล่าวก็ยังใช้มาจนถึงปัจจุบัน พระวินัยสาทร กล่าว.
ติดตามข่าวด่วน กระแสข่าวบน Facebook คลิกที่นี่