ผันงบฯ ป.ป.ส.หมื่นล้านปั้นนิคมราชทัณฑ์ สร้างงานให้ผู้พ้นโทษ สกัดนักโทษทำผิดซ้ำ กำหนดประเภทแรงงาน 2 กลุ่มพักโทษได้ทดลองฝึกงาน และกลุ่มพ้นโทษตามระเบียบ เลี่ยงข้อจำกัดกฎหมายเรื่องเวลาทำงาน เอกชนใช้พื้นที่ไม่ต้องขออนุญาตก่อสร้างโรงงานเอง เปิดตัวเลขเรือนจำแออัดทั่วประเทศ เรือนจำกลางพระนครศรีอยุธยามีผู้ต้องขังเกินกว่า 1,000 คน
แหล่งข่าวกระทรวงแรงงาน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในการประชุมคณะอนุกรรมการการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์เมื่อเร็ว ๆ นี้ กรมราชทัณฑ์ได้รายงานความคืบหน้าว่า เนื่องจากจำนวนผู้ต้องขังในเรือนจำทั่วประเทศ มีจำนวนกว่า 600,000 ราย ทำให้เกิดความแออัด เพราะจำนวนนักโทษมากกว่าศักยภาพของเรือนจำ 2-3 เท่า อีกทั้งงานบางประเภทแรงงานไทยไม่ทำจึงส่งผลให้ขาดแคลนแรงงาน
ขณะนี้ได้กำหนดกรอบการศึกษาถึงความเป็นไปได้ 2 ส่วน คือ
1) ผู้ต้องขังที่ได้รับการพักโทษหรือยังเป็นนักโทษ อาจจะทำเป็นโรงงานทดลองหรือฝึกงาน
และ 2) ผู้พ้นโทษตามระเบียบ แต่ติดปัญหาว่าเมื่อพ้นโทษแล้ว ไม่มีผู้ประกอบการยอมรับเข้าทำงาน จึงเกิดเป็นแนวคิดที่จะจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมและนำโรงงานไปตั้งในนิคมดังกล่าว
โดยในกรณีที่นำงานเข้าไปทำในเรือนจำผู้ต้องขังสามารถทำงานได้ 4 ชั่วโมงต่อวัน แต่หากทำงานในพื้นที่นิคมสามารถทำงานได้ 8 ชั่วโมงต่อวัน นอกจากนี้ยังมีการหารือถึงแนวทางการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์โดย “ความต้องการ” ของคณะอนุกรรมการ เนื่องจากผู้ต้องขังส่วนใหญ่ที่ 80% มีความผิดใน “คดียาเสพติด” ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ เพื่อให้ผู้ต้องขังที่พักโทษระหว่าง 5-7 ปีได้ทดลองทำงาน เพื่อให้มีทักษะที่ผู้ประกอบการต้องการ
สำหรับงบประมาณที่จะนำมาพัฒนานิคมราชทัณฑ์นั้น มีงบประมาณมาจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ตั้งเป้าไว้ที่ 10,000 ล้านบาทต่อปี ส่วนมาตรการจูงใจให้ผู้ประกอบการเข้ามาใช้บริการในพื้นที่ และเตรียมที่จะนำเสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อยู่ในระหว่างรวบรวมความเห็นจากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
ในเบื้องต้นมีการนำเสนอจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ซึ่งกรมราชทัณฑ์เห็นสอดคล้องว่า ควรมีมาตรการจูงใจนักลงทุนด้วยการให้สิทธิประโยชน์ในลักษณะเดียวกันกับการส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ให้ผู้ประกอบการที่เข้ามาลงทุนในพื้นที่นิคม สามารถนำรายจ่ายจากการจ้างแรงงานนักโทษไปลดหย่อนภาษีได้ 3 เท่า และในกรณีที่ผู้ประกอบการจัดตั้งบริษัทขึ้นมาใหม่ จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 5 ปี
อีกทั้งสถานที่ในการจัดตั้ง บริหารจัดการนิคมดังกล่าวให้เป็นความรับผิดชอบของกรมราชทัณฑ์ และผู้ประกอบการเป็นเพียงผู้เช่าใช้พื้นที่ ส่วนในกรณีที่ผู้ประกอบการเข้ามาลงทุนก่อสร้างโรงงานนั้น ไม่ต้องดำเนินการขอใบอนุญาต (รง.4)
“ทางกรมราชทัณฑ์มีเป้าหมายชัดเจนไว้อยู่แล้วว่า จะแก้ปัญหาความแออัดของนักโทษในเรือนจำอย่างไร อีกทั้งสำหรับผู้ต้องขังที่กำลังจะพ้นโทษ หรืออยู่ระหว่างเตรียมการพ้นโทษ ได้มีอาชีพ มีรายได้ และเป็นคนดีของสังคม ภายหลังจากพ้นโทษ เนื่องจากเมื่อมีประวัติการเป็นนักโทษแล้วจะหางานทำยาก เพราะนายจ้างก็จะกังวลว่าจะเกิดปัญหาจากการใช้แรงงานเหล่านี้ ทำให้กลับไปกระทำความผิดซ้ำและสุดท้ายก็กลับเข้ามาในเรือนจำอีก โจทย์นี้สำคัญมากและยังไม่มีใครที่จะแก้ปัญหานี้ได้อย่างจริงจัง” แหล่งข่าวกล่าว
แหล่งข่าวกล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ยังหารือถึงประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับอนุสัญญา ILO หรือองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization) ที่ว่า ผู้ต้องขังในส่วนที่ได้รับการ “พักโทษ” และ “พ้นโทษ” ในประวัติส่วนตัวยังคงมีการระบุว่ามีคดีอยู่นั้น ไม่สามารถไปทำงานต่างประเทศได้ ซึ่งอาจจะต้องพิจารณาในรายละเอียดว่าจะสามารถแก้ไขในข้อจำกัดนี้อย่างไร
อีกทั้งประเด็นในกรณีที่เป็น “สินค้าส่งออก” อย่างเช่น การส่งออกไปประเทศสหรัฐอเมริกา ที่กฎหมายระบุว่า “ไม่รับสินค้า” ที่นำเข้ามาจากการใช้แรงงานนักโทษในเรือนจำนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะแก้ไขในประเด็นเหล่านี้อย่างไร
ทั้งนี้ พื้นที่จัดตั้งนิคมดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างศึกษาความเหมาะสมโดยกรมราชทัณฑ์ โดยแนวคิดของการจัดหาพื้นที่แหล่งงานใน 4 ภาค คาดว่าจะมีโครงการนำร่อง 1 แห่งในภาคกลาง เช่น จังหวัดสมุทรปราการ, ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี และระยอง เป็นต้น การจัดหาพื้นที่อาจเป็นรูปแบบเช่าพื้นที่ราชพัสดุ หรือซื้อที่ดิน ซึ่งจะต้องรอผลการศึกษาของกรมราชทัณฑ์
รายงานข่าวจากกรมราชทัณฑ์ระบุว่า ตามรายงานแสดงสภาพความแออัดของผู้ต้องขังในเรือนจำ/ทัณฑสถาน (5 ก.พ. 2564) รวม 10 เขตนั้น เขตที่ 1 รวม 17 จังหวัด มีผู้ต้องขังเกินจำนวนคือ เรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผู้ต้องขังเกิน 1,043 ราย คิดเป็น 46.25% เรือนจำจังหวัดสระบุรี 62 ราย คิดเป็น 2.65% พื้นที่เขต 2 รวม 18 แห่ง มีผู้ต้องขังเกินจำนวน 4 แห่ง คือ เรือนจำจังหวัดจันทบุรี, นครนายก, สระแก้ว, กบินทร์บุรี
พื้นที่เขต 3 รวม 26 แห่ง มีผู้ต้องขังเกินจำนวน 10 แห่ง เช่น เรือนจำกลางคลองไผ่ บุรีรัมย์, ศรีสะเกษ, สุรินทร์ และเรือนจำอำเภอกันทรลักษ์ เป็นต้น พื้นที่เขต 4 รวม 11 แห่ง มีผู้ต้องขังเกินจำนวน เช่น เรือนจำกลางขอนแก่น, อุดรธานี ทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่น และมหาสารคาม เป็นต้น พื้นที่เขต 5 รวม 26 แห่ง มีเพียงเรือนจำอำเภอเทิง ที่มีผู้ต้องขังเกินศักยภาพ พื้นที่เขต 6 รวม 26 แห่ง มีผู้ต้องขังเกินศักยภาพคือ สุโขทัย, อุตรดิตถ์, อุทัยธานี
พื้นที่เขต 7 รวม 18 แห่ง มีผู้ต้องขังเกินศักยภาพ 3 แห่ง เรือนจำกลางนครปฐม, ประจวบคีรีขันธ์ และเรือนจำพิเศษราชบุรี พื้นที่เขต 8 รวม 28 แห่ง มี 10 แห่ง ที่มีผู้ต้องขังเกินศักยภาพ เช่น ทัณฑสถานวัยหนุ่มนครศรีธรรมราช เรือนจำพิเศษนครศรีธรรมราช, กระบี่, พังงา, ภูเก็ต เรือนจำอำเภอหลังสวน เรือนจำอำเภอทุ่งสง พื้นที่เขต 9 รวม 17 แห่ง มีผู้ต้องขังเกินศักยภาพ 5 แห่ง เช่น เรือนจำจังหวัดตรัง, นราธิวาส, สงขลา เป็นต้น และพื้นที่เขต 10 รวม 17 แห่ง มีผู้ต้องขังเกินศักยภาพเพียงแห่งเดียว คือ ทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง