วันที่ 26 มิ.ย.ทุกปี เป็นวันต่อต้านยาเสพติดโลก ทีมข่าวไทยพีบีเอสภาคเหนือ สัมภาษณ์พิเศษ ผบ.กองกำลังผาเมือง กับนักวิชาการ ถึงปัญหายาเสพติดในพื้นที่ชายแดน “สามเหลี่ยมทองคำ”
พล.ต.ศุภฤกษ์ สถาพรผล ผู้บัญชาการกองกำลังผาเมือง ผู้อำนวยการปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดกองกำลังผาเมือง ที่เป็นผู้บังคับบัญชาฝ่ายความมั่นคง “หน้าแนว” สกัดกั้นยาเสพติดตามแนวชายแดน 6 จังหวัด (เชียงใหม่, เชียงราย, พะเยา, น่าน, อุตรดิตถ์ และพิษณุโลก)
ความยาวตามแนวชายแดน 933 กิโลเมตร ติดต่อกับประเทศเมียนมา 349 กิโลเมตร ชายแดนติดต่อกับประเทศลาว 584 กิโลเมตร เป็นทางบก 758 กิโลเมตร และทางน้ำ 175 กิโลเมตร
สถิติการปราบปรามและสกัดกั้นยาเสพติด ตั้งแต่เดือน ต.ค.2564 ถึง มิ.ย.2565 มีปฏิบัติการ 264 ครั้ง จับกุมผู้ต้องหา 320 คน ผู้ก่อเหตุเสียชีวิต 27 คน ยึดยาบ้าได้ 54 ล้านเม็ด เฮโรอีน 12 กิโลกรัม ไอซ์ 120 กิโลกรัม คีคามีน 177 กิโลกรัม
พล.ต.ศุภฤกษ์ สถาพรผล ผู้บัญชาการกองกำลังผาเมือง
ถ้าเราเข้าใจปัญหายาเสพติดตั้งแต่แรก ในเรื่องความต้องการ ถ้าไม่มีคนต้องการยาเสพติด คงไม่มีใครเอายาเสพติดเข้ามาขาย หรือแบกข้ามแดน
พล.ต.ศุภฤกษ์ระบุว่า สถานการณ์ยาเสพติดจะเข้ามามากหรือน้อย แปรผันตามความต้องการของผู้เสพ “คุ้มเสี่ยง” คือกลุ่มคนรับจ้างแบก
เมื่อขนเข้ามาจากชายแดน เมื่อการขนแต่ละครั้งแม้จะมีคนตาย แต่ขบวนการกลับมองว่าคุ้ม เมื่อเทียบกับผลตอบแทนที่ได้รับ
ถ้ามองสถิติการปะทะกับขบวนการยาเสพติดยังเหมือนเดิม แนวโน้มยังเป็นแบบนี้ ปริมาณยาเสพติดจะไม่ต่างจากรอบปีที่ผ่านมา
ผู้บัญชาการกองกำลังผาเมือง ระบุถึงเส้นทางที่ขบวนการ ลำเลียงยาเสพติดไม่ใช่เส้นทางใหม่ แต่การลักลอบขนยาเสพติดจะเป็นวงรอบ
หากเข้าชายแดนด้าน จ.เชียงใหม่ โดนสกัด จะเลี่ยงไปใช้เส้นทาง จ.เชียงราย เมื่อคุมเข้ม จ.เชียงราย ก็จะเปลี่ยนเส้นทางไปทางแม่น้ำโขง จะวนไปแบบนี้
ส่วนรูปแบบการสกัดกั้น ก็จะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางการข่าวในพื้นที่ เมื่อเปลี่ยนยุทธวิธี หรือจุดสกัด เช่น พื้นที่ป่า ภูเขา ใช้กำลังสุ่ม จะเห็นว่ามีการคุ้มกันเกิดการปะทะกันตลอด จนพบขบวนการเสียชีวิตจำนวนมาก
หรือหากเป็นแม่น้ำ ก็จะมีเรือเร็วโยนขึ้นฝั่ง มีอีกฝ่ายยืนรอรับเพื่อขนส่งต่อไป ดูเหมือนปีนี้ (2565) จะรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากปะทะฝ่ายตรงข้ามเสียชีวิตหลายศพ ยึดยาบ้าได้จำนวนมหาศาล ซึ่งการจับกุมจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับจังหวะการจับกุม
ต้นทุนยาเสพติดถูกลง สาเหตุยาเสพติดทะลักชายแดน
พล.ต.ศุภฤกษ์ กล่าวย้ำถึงต้นทุนผลิตยาบ้า 1 เม็ดจะอยู่ราว 0.5-1 บาท ยังคงเหมือนเดิม เพราะปัจจุบันสารตั้งต้นการผลิตสามารถหาได้ ไม่จำเป็นต้องขนผ่านประเทศไทย เมื่อมีความต้องการเมื่อไหร่ก็ผลิตได้ทันที ขณะที่ความสงบในเมียนมา อาจมีส่วน แต่ไม่มากเพราะปัญหาภายในเมียนมามีมานาน อาจดูแลไม่ทั่วถึง
วันต่อต้านยาเสพติด ผมอยากเห็นเมื่อไหร่ความต้องการเป็นศูนย์ เมื่อความต้องการไม่มี การรับจ้างขนก็ไม่มี
ผศ.ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ม.เชียงใหม่
ผศ.ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นักวิชาการที่ศึกษาด้านความขัดแย้งกลุ่มชาติพันธุ์ และยาเสพติดในเมียนมา มองว่า สถานการณ์ยาเสพติดปัจจุบัน โดยเฉพาะพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ หรือพื้นที่รอยต่อระหว่าง ไทย ลาว และเมียนมา ภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งในเมียนมา และการเกิดขึ้นของแหล่งฟอกเงินในสามเหลี่ยมทองคำ
ปัจจุบันความขัดแย้ง สถานการณ์การเมืองในเมียนมา โดยเฉพาะรัฐฉานทางตอนเหนือ การควบคุมพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ มีนัยยะสำคัญ คือ สงครามทางการเมือง ใช้ยาเสพติดให้ได้มาซึ่งเงินทุนซื้ออาวุธ
อีกด้านพบว่า การช่วงชิงขอบเขตพื้นที่การครอบครองรัฐฉานตอนเหนือ เมื่อพื้นที่เกิดความไม่สงบ จะกลายเป็นแหล่งดึงดูดลงทุนยาเสพติดข้ามชาติ ให้ไปทำธุรกิจในรัฐฉานตอนเหนือ คาบเกี่ยวบริเวณพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำทั้งหมด
เมื่อมีเงื่อนไขการผลิตยาเสพติดครบวงจร มีกลไกของระบบฟอกเงินเข้ามาสนับสนุนด้วย ความไม่สงบในรัฐฉาน จะกลายเป็นเงื่อนไขสำคัญที่อาจทำให้ตลาดยาเสพติดเติบโต
ท็อดด์ โรบินสัน ผู้ช่วย รมว.ต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา ลงพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ
ผศ.ฐิติวุฒิ มองทางออกปัญหายาเสพติดที่กำลังเติบโตว่า ปัจจุบันพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ เมื่อมีองค์กรอาชญากรข้ามชาติเข้ามาทำให้ธุรกิจ ทำให้ยาเสพติด บริเวณสามเหลี่ยมทองคำเฟื่องฟู พื้นที่สามเหลี่ยมทองคำจะกลายเป็นศูนย์กลางยาเสพติดในไม่ช้า
ดังนั้นการสร้างกลไกสืบสวนการฟอกเงินข้ามชาติ ในความร่วมมือประเทศในลุ่มน้ำโขง จึงเป็นสิ่งจำเป็น แต่ต้องระวังไม่ให้เป็นเครื่องมือของประเทศมหาอำนาจ จีน กับ สหรัฐอเมริกา ที่จะใช้ประเด็นยาเสพติดเรื่องการเมืองระหว่างประเทศ