วันที่ 16 ธ.ค. นายปัณณวัฒน์ (จเร) นาคมูล ผู้สมัครนายกอบจ.อุตรดิตถ์ หมายเลข 4 คณะก้าวหน้า เปิดเผยว่า เชื่อว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นในจ.อุตรดิตถ์ครั้งนี้จะเต็มไปด้วยความเข้มข้น อาจได้ลุ้นกันถึงบัตรเลือกตั้งใบสุดท้าย ซึ่งก็ไม่หวั่นแม้จะต้องสู้ในฐานะม้ามืด โดยเชื่อมั่นในประสบการณ์การเมืองท้องถิ่นของตน ที่เคยเป็นสมาชิกสภาอบจ. อ.ลับแล บ้านเกิด
โดยจะยึดมั่นนโยบายดูแลปัญหาราคาพืชผลการเกษตรของประชาชนในพื้นที่ เชื่อมั่นตามที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า และนายปิยะบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะ ที่เน้นน้ำว่าท้องถิ่นสามารถเปลี่ยนแปลงได้ เปลี่ยนประเทศไทยต้องเริ่มที่บ้านเรา ทำให้ตัดสินใจลงสมัครเลือกตั้งเพื่อให้จ.อุตรดิตถ์ดีกว่าที่เป็นอยู่
นายปัณณวัฒน์ กล่าวว่า เมื่อครั้งก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ ตนก็เป็นหัวหน้าศูนย์ประสานงานพรรคของจังหวัด ในวันนี้เมื่อทำงานในฐานะคณะก้าวหน้า ก็อยากเห็นการเมืองท้องถิ่นมิติใหม่ การเมืองท้องถิ่นที่แข่งขันกันด้วยนโยบาย ไม่ใช่เงินทอง ไม่ใช่อำนาจและอิทธิพล
นายปัณณวัฒน์ กล่าวว่า งบประมาณอบจ.อุตรดิตถ์ มีปีละ 400 กว่าล้าน 1 สมัย 4 ปี รวม 1,600 ล้านบาท ถ้าผมเข้ามาทำหน้าที่ เงินทั้งหมดต้องบริหารอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ ใน 5 นโยบายหลัก คือ 1.สุจริตโปร่งใส ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดซื้อจัดจ้าง การประชุมสภา อบจ.ก็ต้องถ่ายทอดสดให้สังคมได้รับรู้ ว่าคนที่ประชาชนเลือกไปแล้วทำอะไรบ้าง ส.อบจ. ที่เลือกมาแต่ละเขตทำหน้าที่ได้ดีหรือไม่อย่างไร ตรวจสอบฝ่ายบริหารหรือไม่ หรือยกมือผ่านไม่ตั้งคำถามอะไรเลย
2.ทรัพย์สินของ อบจ. ที่มีอยู่แล้วต้องใช้ให้เกิดประสิทธิภาพประโยชน์สูงสุด จากการสำรวจก็พบว่าเครื่องมือต่างๆ ของอบจ.อุตรดิตถ์นั้นมีอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นรถแบ็คโฮ รถบรรทุก เครื่องเจาะบาดาล ฯลฯ ซึ่งเป็นเครื่องมือที่พี่น้องเกษตรกรต้องการใช้ประโยชน์ การพัฒนาถนนหนทางเข้าสู่เรือกสวนไร่นาก็ดำเนินการ การขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลต่างๆ อบจ. ต้องนำเครื่องมือเหล่านี้มาใช้ให้เกิดประโยชนกับประชาชน บริหารด้วยความรวดเร็ว ให้บริการได้ทันท่วงที
สนามกีฬาที่อยู่ในสภาพทรุดโทรม ต้องปรับปรุงพัฒนาให้เป็นสถานที่ออกกำลังกาย และยังพักผ่อนได้ด้วย เพิ่มอุปกรณ์การออกกำลังกายเข้าไปให้เหมาะ ปรับปรุงภูมิทัศน์ เพิ่มลานอเนกประสงค์ไว้สำหรับจัดกิจกรรมต่างๆ และเป็นพื้นที่ให้คนหนุ่มสาวใช้ได้ด้วย เช่น สเก็ตบอร์ด ลานกิจกรรมกีฬาเอ็กซ์ตรีมต่างๆ ฯลฯ ต้องให้คนทุกเพศทุกวัยสามารถใช้ได้
3.สาธารณสุข ด้วยความเป็นพื้นที่ใหญ่ ทำให้ประชาชนในอำเภอโซนบน เช่น อ.น้ำปาด ฟากท่า บ้านโคก ต้องเดินทางกว่า 200 กิโลเมตร เข้ามารักษาโรงพยาบาลในจังหวัด จึงต้องตั้งศูนย์สาธารณสุขในพื้นที่ห่างไกล อาจเริ่มที่ศูนย์เฉพาะด้าน เช่น ศูนย์ฟอกไต สนับสนุนไปที่โรงพยาบาลอำเภอ ยังมีเรื่องศูนย์ดูแลผู้ป่วยติดเตียงติดบ้าน มีผู้สูงอายุเยอะ พื้นที่ห่างไกลที่ยังไม่เข้าถึงการสาธารณสุข
4.การศึกษา นอกเหนือจากเรื่องหลักสูตรแล้ว การศึกษานอกห้องเรียนและคุณภาพชีวิตก็สำคัญ จะใช้งบประมาณปีละ 20 ล้านบาท เป็นค่าอาหารเช้าให้นักเรียนในสังกัดอบจ.กว่า 7 พันคน ลดภาระค่าใช้จ่ายผู้ปกครอง และดูแลเรื่องหลักโภชนาการ
เปิดเวทีรับฟังความเห็นคนรุ่นใหม่ เกิดเป็นนโยบายการศึกษาที่เขาอยากให้มีการสร้างศูนย์เรียนรู้นอกห้องเรียน ชื่อ’ศูนย์ค้นหาตัวเอง’ เพราะคนรุ่นใหม่ทุกวันนี้เชื่อว่าการเรียนไม่ใช่ระบบอย่างเดียว แต่ต้องค้นหาตัวเองให้เจอ ดังนั้นไม่ว่าจะเรื่องดนตรี กีฬา เกษตร งานออกแบบ ฯลฯ ทุกอย่าง จะมีในศูนย์ค้นหาตัวเองและปฏิบัติได้จริง นอกจากนี้ เรายังเปิดพื้นที่ต่อยอดให้ได้มาแสดงออก ใครอยากทำอะไร มีพื้นที่ มีงบประมาณสนับสนุน ทั้ง 9 อำเภอ ในกรอบกติกาที่สามารถทำได้ ซึ่งนี่ก็เป็นนโยบายที่มาจากการรับฟังคนหนุ่มสาว
5.จบปัญหาหมาแมวจรจัด เรื่องนี้แม้จะมองว่าเป็นเรื่องเล็ก แต่ก็เกิดจากการเปิดเวทีประชาคมของชาวอุตรดิตถ์ ประชาชนได้มามีส่วนร่วมพูดคุยถกเถียงกันแล้วก็เห็นว่าปัญหาหมาแมวจรจัดในจังหวัดอุตรดิตถ์เป็นเรื่องสำคัญ ไม่ใช่ภาพความน่าสงสารที่สัตว์ถูกทำร้ายหรือปล่อยให้อดโซอย่างเดียว แต่ก็เป็นเรื่องสุขภาวะในชุมชน เป็นเรื่องความสะอาดของบ้านเมือง จึงมีแนวคิดจะทำศูนย์พักพิงฟื้นฟูหมาแมวจรจัด ซึ่งศูนย์นี้งบประมาณไม่ได้ใช้มากมาย มีแค่เพียงพื้นที่ สร้างโรงเรือน ค่าอาหาร ค่าวัคซีน และค่าจ้างคนงาน รวมถึงต้องมีการประชาสัมพันธ์เรื่องความรับผิดชอบต่อสัตว์ให้กับคนในจังหวัดด้วย
นายปัณณวัฒน์ กล่าวว่า ทั้งนี้ 20 ธ.ค.นี้เป็นโอกาสสำคัญอีกครั้งที่ชาวอุตรดิตถ์จะได้ร่วมสร้างอนาคตใหม่ให้อุตรดิตถ์ ผ่านคูหาเลือกตั้ง เลือกแบบเดิมได้แบบเดิม เลือกแบบใหม่ก็ได้แบบใหม่