วันที่ 16 ตุลาคม 2563 นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา นายชนศวรรตน์ ธนศุภรณ์พงษ์ นายนำพล คารมปราชญ์ อนุกรรมาธิการฯ นายภัทรพล ณ หนองคาย อนุกรรมาธิการฯ และผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการบรรเทาภัยแล้งจากน้ำ พร้อมเจ้าหน้าที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา
เดินทางออกจากพิษณุโลกแต่เช้า มุ่งหน้าอำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ ใช้เวลาเดินทางเกือบ 2 ชั่วโมงระยะทาง 140 กม แวะดูการปล่อยน้ำบริเวณร้านริมน่านจากเขื่อนสิริกิตติ์ ซึ่งห่างออกไปประมาณ 3 กม.เศษ พบว่าน้ำจากเขื่อนไหลแรงปานกลาง ตามลำน้ำน่าน นั่งดูราว 20 นาที สายน้ำหยุดนิ่ง เห็นแนวโขดหินโผล่ตามกลางลำน้ำ ‘เขื่อนหยุดปล่อยน้ำ’ เดินทางต่ออีกกว่า 20 กม.ถึงห้องประชุมไกรลาศอุทิศ โรงเรียนชุมชนไกรลาศวิทยาคม อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์
นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการฯ นายชนศวรรตน์ ธนศุภรณ์พงษ์ อนุกรรมาธิการฯ นายภัทรพล ณ หนองคาย อนุกรรมาธิการฯ และผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการบรรเทาภัยแล้งจากน้ำ เดินทางเพื่อรับฟัง เสนอแนะ ให้ความรู้ในเวทีเสวนาเรื่อง “แนวทางแก้ไขปัญหาอุทกภัย/ภัยแล้งต่อเนื่องอย่างยั่งยืน” ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 16-19 ตุลาคม 2563 ในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดอุตรดิตถ์ ลำพูน แพร่และเชียงใหม่พร้อมด้วยคณะ ได้เข้าร่วมประชุมหารือการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งต่อเนื่องอย่างยั่งยืน ลุ่มน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ โดยมีภาคส่วนราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุตรดิตถ์ มณฑลทหารบกที่ 35 นายอำเภอ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องพร้อมด้วยผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่เข้าร่วม (รายชื่อหน่วยงานเข้าร่วมประชุม อยู่ท้ายรายงาน)
นายบุญส่ง ไคร้แค ผู้ประสานงานศูนย์ประสานเครือข่ายชุมชนแก้ไขปัญหาราษฎร (ศคป.) และนายสมหมาย พุฒลา อนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดอุตรดิตถ์ กล่าวถึงสภาพปัญหาต่อที่ประชุมว่า ‘แม่น้ำปาดเป็นลำน้ำสาขาหลักของลุ่มน้ำน่าน มีความยาวกว่าร้อยกิโลเมตร ไหลผ่าน 3 อำเภอคือ บ้านโคก ฟากท่า น้ำปาด ซึ่งในหลายปีที่ผ่านมาประสบปัญหาน้ำท่วมไหลหลากในฤดูฝนและภัยแล้งรุนแรงในฤดูแล้ง’
โดยสภาพภูมิประเทศ แม่น้ำปาดไหลผ่านเทือกเขามีลำห้วยสาขาจำนวนมาก แต่เนื่องจากสภาพอากาศที่แปรเปลี่ยนไปและความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าลดลงทำให้การไหลของน้ำในฤดูฝนรวดเร็วรุนแรงและน้ำซึมน้ำซับธรรมชาติที่เคยหล่อเลี้ยงลำห้วยในฤดูแล้งเหือดแห้ง (http://www.voice-tv.online/80069/ข่าวท้องถิ่น)
พื้นที่ 3 อำเภอคือ บ้านโคก ฟากท่า น้ำปาด ซึ่ง พื้นที่เกษตร 1,926,632 ไร่ ได้รับความเสียหาย รัฐบาลต้องเยียวยาช่วยเหลือต่อเนื่อง ใช้งบประมาณนับหมื่นล้านบาท
นายสมหมาย พุฒลา ในฐานะคณะกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดอุตรดิตถ์ ให้ข้อมูลว่า จังหวัดอุตรดิตถ์มีปัญหาหลักเกิดจากน้ำหลากในหน้าน้ำ เนื่องจากน้ำจะไหลเร็วและไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ได้ และด้วยความแรงของน้ำทำให้ส่งผลกระทบต่อผลผลิตของชาวบ้านอีกด้วย
‘จังหวัดอุตรดิตถ์ เสนอแผนก่อสร้างฝายเก็บน้ำงบประมาณ 5 พันล้านบาท เพื่อให้พี่น้อง 3 อำเภอมีน้ำใช้ แต่ยังไม่ผ่านการพิจารณา ซึ่งพี่น้อง 3 อำเภอรอมา 40 ปีแล้ว’
นายสมหมาย กล่าวอีกว่า ดังนั้น เมื่อพิจารณาถึงความต้องการของชาวบ้านจะเห็นว่า มีความต้องการฝายแกนซอยซีเมนต์เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้ป่า และชะลอน้ำไม่ให้ไหลลงเร็วและยังเป็นการเพิ่มการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งได้อีกด้วย
นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการฯ กล่าวต่อที่ประชุมว่า เมื่อวันที่ 11-13 กันยายน 2563 คณะกรรมาธิการฯ ได้เคยเดินทางมาร่วมประชุมแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งต่อเนื่อง ในพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ ณ อบต.บ้านด่านนาขาม อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ โดยในที่ประชุมได้เสนอแนวทางพัฒนาเพื่อท้องถิ่นพึ่งพาตัวเอง ของศูนย์ปฏิบัติการบรรเทาภัยอันเกิดจากน้ำ กรมชลประทาน คือการทำฝายแกนซอยซีเมนต์ /การเติมระบบน้ำใต้ดิน/ ชุดสูบน้ำโซล่าเซลล์อย่างประหยัด
รายละเอียด : https://www.facebook.com/1765804180301361/posts/2685336405014796/?d=n) และ (https://www.facebook.com/1765804180301361/posts/2685301251684978/?vh=e&d=n
“จากการที่คณะกรรมาธิการฯ ได้ให้ความรู้ ข้อเสนอแนะ เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2563 ขณะนี้มีหลายตำบลได้ขับเคลื่อนตามแนวทางดังกล่าว เช่น ตำบลนายาง อำเภอพิชัย ตำบลฝายหลวง อำเภอลับแล ตำบลด่านนาขาม อำเภอเมือง เป็นต้น”
นายสังศิต มอบให้นายภัทรพล ณ หนองคาย อนุกรรมาธิการฯ และผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการบรรเทาอันเกิดจากนำ้แนะนำให้ความรู้ นวัตกรรมการสร้างฝายกักเก็บน้ำด้วยแกนซอยซีเมนต์ และอีก 10 แนวทางซึ่งสามารถจัดเก็บน้ำจัดหาแหล่งน้ำเพราะปลูกยามหน้าแล้งได้
นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการฯ สรุปข้อเสนอแนะต่อที่ประชุมว่า
1. คณะกรรมาธิการฯ มุ่งส่งเสริมการจัดการแหล่งน้ำขนาดเล็ก เน้นพื้นที่นอกเขตชลประทาน
2. เมื่อมีน้ำแล้วควรต้องทำเกษตรผสมผสาน ให้มีผลผลิตขาย มีรายได้เป็นประจำทุก 2-3 วัน และค่อยๆลดการใช้ปุ๋ยและสารเคมีจนกว่าจะเป็นการเกษตรอินทรีย์
3. ทุก อบต. ควรร่วมกันจัดทำแผนสร้างฝายขนาดเล็กตลอดลำน้ำปาด และ
4. เราต้องร่วมกันก้าวข้ามผ่านอุปสรรคต่างๆ ทั้งด้านกฎหมาย และหลักเกณฑ์ต่างๆของทางราชการ โดยการมีแนวคิดและวิธีการใหม่ๆในการแก้ปัญหาเรื่องน้ำ คณะกรรมาธิการฯ อาสาจะเป็นผู้ประสานหน่วยงานต่างๆ ให้เพื่อให้งานต่างๆเดินหน้าต่อไปได้จนกว่าจะประสบผลสำเร็จ
รายชื่อหน่วยงานที่เข้าร่วมประชุมวันศุกร์ที่ 16 ตุลาคม 2563 ร่วมกับคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา ณ ห้องประชุมไกรลาสอุทิศ โรงเรียนชุมชนไกรลาสวิทยาคม อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ มีดังนี้
1.1 นายพยงค์ ยาเภา หัวหน้าสำนักงานจังหวัดอุตรดิตถ์
1.2 พลตรีศุภกฤษ์ สถาพรผล ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 35
1.3 นายไพบูลย์ วิรบุตร์ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุตรดิตถ์
1.4 ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดอุตรดิตถ์
1.5 หัวหน้าศูนย์ป่าไม้จังหวัดอุตรดิตถ์
1.6 ปฏิรูปที่ดินจังหวัดอุตรดิตถ์
1.7 หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดอุตรดิตถ์
1.8 ผู้ปกครองนิคมสร้างตนเองลำน้ำน่าน จังหวัดอุตรดิตถ์
1.9 ผู้อำนวยการสำนักตรวจเงินแผ่นดินจังหวัดอุตรดิตถ์
1.10 เกษตรและสหกรณ์จังหวัดอุตรดิตถ์
1.11 ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ภาค 1
1.12 นายอำเภอน้ำปาด
1.13 นายอำเภอฟากท่า
1.14 นายอำเภอท่าปลา
1.15 นายอำเภอทองแสนขัน
1.16 นายอำเภอบ้านโคก
1.17 ตัวแทนกรมเจ้าท่า
“ผมพบว่าในเวลาเพียง 1 เดือนหลังจากที่เรามาเผยแพร่ความรู้ใหม่เรื่องการกักเก็บน้ำ ในพื้นที่อุตรดิตถ์ได้มีการตื่นตัวและมีการเคลื่อนไหวของภาครัฐ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นและภาคประชาชนในเรื่องน้ำเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ผมคิดว่านี่เป็นการส่งสัญญาณเชิงบวกของการการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเริ่มต้นอย่างมีอนาคตครับ”นายสังศิตกล่าว