วันพุธ ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2564, 06.00 น.
นางนรีลักษณ์ วรรณสาย รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่าหลายพื้นที่ของประเทศไทยประสบปัญหาน้ำท่วมและน้ำล้นตลิ่งจากอิทธิพลพายุที่ผ่านมา โดยเฉพาะภาคกลาง ภาคเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือรวม 31 จังหวัด หลายหน่วยงานกำลังเร่งให้การช่วยเหลือ ในส่วนของกรมฝนหลวงฯ ได้วิเคราะห์และวางแผนช่วยเหลือพื้นที่ซึ่งมีความต้องการน้ำ โดยไม่ให้มีผลกระทบต่อพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมและปรับแผนในการเปิดหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง แต่ยังคงตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง 5 หน่วยปฏิบัติการ ได้แก่ภาคเหนือ ที่ จ.เชียงใหม่ จ.ตาก จ.พิษณุโลกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนคือ จ.อุดรธานี และ จ.ขอนแก่น โดยมีเป้าหมายหลักในการเติมน้ำให้กับเขื่อนและอ่างเก็บน้ำที่ยังคงมีความต้องการน้ำและมีปริมาณน้ำน้อยกว่า 30% ซึ่งน้ำในเขื่อนจะเป็นน้ำต้นทุนสำหรับการอุปโภค-บริโภคและเพื่อการเกษตรในช่วงฤดูแล้งที่จะมาถึง
สำหรับผลการปฏิบัติการฝนหลวงกรมฝนหลวงฯ ได้ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อเติมน้ำให้กับเขื่อนที่ยังคงมีปริมาณน้ำน้อย ทำให้มีฝนตกบริเวณพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล จ.เชียงใหม่ เขื่อนกิ่วลมจ.ลำปาง เขื่อนภูมิพล จ.ตาก เขื่อนสิริกิติ์จ.อุตรดิตถ์ เขื่อนน้ำอูน และอ่างเก็บน้ำห้วยกระเฌอ อ่างเก็บน้ำโคกภูใหม่ จ.สกลนคร โดยวันที่ 3 ตุลาคม สภาพอากาศเข้าเงื่อนไขปฏิบัติการฝนหลวงที่หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.เชียงใหม่จึงมีการขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง โดยมีเป้าหมายคือพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เขื่อนแม่กวงอุดมธาราเขื่อนกิ่วลม เขื่อนกิ่วคอหมา และอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ที่มีการขอรับบริการ อย่างไรก็ดี หน่วยปฏิบัติการในพื้นที่อื่นๆ จะติดตามสภาพอากาศก่อนขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่เป้าหมาย โดยระมัดระวังไม่ให้มีผลกระทบพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม