นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงการแก้ไขปัญหาน้ำเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำบางปะกงว่า กรมชลประทาน ได้วางมาตรการระยะเร่งด่วน เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ด้วยการปรับเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาและเขื่อนพระรามหก เพื่อควบคุมค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างให้สอดคล้องกับระดับการขึ้นลงของน้ำทะเล พร้อมขอความร่วมมือประตูระบายน้ำ สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า รวมไปถึงอาคารชลประทานทุกแห่งที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลงมาจนถึงสถานีสูบน้ำสำแลงดการรับน้ำเข้าพื้นที่ในช่วงเวลาที่ลำเลียงน้ำผ่านไปยังพื้นที่ตอนล่าง
ส่วนพื้นที่ด้านท้ายน้ำจะควบคุมการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ จ.สมุทรปราการ ตามจังหวะการขึ้น-ลงของน้ำทะเลอย่างเคร่งครัด รวมไปถึงการบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักการระบายน้ำกรุงเทพมหานคร ในการระบายน้ำลงแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงเวลาน้ำลง และวางแผนร่วมกับการประปานครหลวง ปรับเพิ่มจำนวนชั่วโมงในการทำ water hammer operation เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำเค็มในระยะกลางนั้น กรมชลประทาน จะเร่งรัดโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ในลุ่มน้ำยม อาทิ โครงการอ่างเก็บน้ำน้ำปี้อันเนื่องมาจากพระราชดาริ จ.พะเยา โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.อุตรดิตถ์ โครงการอ่างเก็บน้ำน้ำกิ จ.น่าน โครงการปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพหัวงานฝายแม่ยม จ.แพร่ ส่วนในระยะยาว ได้วางแผนโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเขื่อนภูมิพล จ.แม่ฮ่องสอน เพื่อเป็นแหล่งเก็บกักน้ำและเป็นการแก้ไขปัญหาน้ำเค็มในอนาคตอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ กรมชลประทาน จะบริหารจัดการน้ำพร้อมกับให้ความช่วยเหลือพื้นที่ที่ประสบปัญหาอย่างเต็มความสามารถตามศักยภาพของปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ เพื่อลดผลกระทบและบรรเทาความเดือดร้อนที่จะเกิดกับเกษตรกรและประชาชนให้ได้มากที่สุด และเนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนในช่วงฤดูแล้งนี้ ใน 4 เขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) อยู่ในเกณฑ์น้อย สนับสนุนการใช้น้ำได้เฉพาะการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ และพืชต่อเนื่องเป็นหลัก จึงขอให้ทุกภาคส่วนร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุด