ไปต่อ! แม้ถูกยับยั้ง เช็กรายชื่อ 49 อบจ.ผ่านประเมิน จ่อรับโอน 3,457 รพ.สต.- สอน.ด้าน 2 องค์กรสนับสนุน “อบจ.- รพ.สต.” ยื่นชื่อคนสาธารณสุข-อสม. 1.4 หมื่นรายชื่อ จี้ “นายกฯ” เร่งหน่วยงานรัฐ ตอบ 10 ข้อทักท้วง กมธ.สาธารณสุข สว. เชื่อ มีเจตนายับยั้งงบฯเข้าข่ายขัดขวาง/ก้าวก่าย แทรกแซงนโยบาย ก.ก.ถ.
วันนี้ (14 ธ.ค.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ภายหลัง สำนักปลัดนายกรัฐมนตรี (สปน.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) ที่มี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน
ได้รับแจ้งเวียนผลการประเมินองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่ผ่านการประเมินความพร้อม ในการรับถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี (สอน.) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) จำนวน 49 แห่ง
ทั้งนี้ ประกอบด้วย อบจ.กระบี่ กาญจนบุรี กาฬสินธุ์ กำแพงเพชร ขอนแก่น ชัยภูมิ ชุมพร เชียงราย เชียงใหม่ ตาก นครปฐม นครพนม นครราชสีมา นครศรีธรรมราช นครสวรรค์ นนทบุรี น่าน ปทุมธานี ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี ปัตตานี พะเยา พัทลุง พิจิตร พิษณุโลก
เพชรบูรณ์ แพร่ ภูเก็ต มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด ระยอง ราชบุรี ลำพูน ศรีสะเกษ สกลนคร สงขลา สตูล สมุทรสาคร สิงห์บุรี สุโขทัย สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุตรดิตถ์ อุทัยธานี และ อุบลราชธานี
โดยล่าสุด กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้จัดทำอบรมดับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น เตรียมความพร้อมดำเนินการถ่ายโอน ระกว่างวันที่ 15-16 ธ.ค.นี้
นอกจากนี้ เมื่อช่วงเช้าผู้แทน สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย และ ชมรมโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (ประเทศไทย) ได้เข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ณ ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเร่งรัดให้ส่วนราชการดำเนินการถ่ายโอนภารกิจและสนับสนุนงบประมาณ ปีงบประมาณ 2566
ประกอบบัญชีรายชื่อประชาชนที่ลงชื่อสนับสนุนนโยบาย จำนวน 14,410 คน และข้อดีของการดำเนินงานถ่ายโอนภารกิจ
พร้อมแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับท่าทีของคณะกรรมาธิการสาธารณสุข (กมธ.สาธารณสุข) วุฒิสภา โดยมี นายอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับมอบ
ทั้งนี้ เมื่อสุดสัปดาห์ที่แล้ว ประธาน กมธ.สาธารณสุข วุฒิสภา มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี โดยยื่น 10 ข้อให้ยับยั้งการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยฯ และ รพ.สต. ให้แก่ อบจ.
วันเดียวกัน ทั้ง 2 ส่วนที่เข้ายื่นหนังสือ ได้ออกแถลงการณ์ร่วมย้ำว่า เจตนาของ กมธ.สาธารณสุข วุฒิสภา เป็นไปเพื่อยับยั้งงบประมาณ ไม่ให้มีการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ไปยัง อบจ. อันน่าจะเป็นการขัดขวางและก้าวก่าย แทรกแซงนโยบายรัฐบาล ผู้ถืออำนาจฝ่ายบริหาร
“น่าจะก้าวก่ายแทรกแซงคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้มีอำนาจหน้าที่แห่ง พ.ร.บ. กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 และน่าจะก้าวก่ายแทรกแซงองค์การบริหารส่วนจังหวัด ราชการส่วนท้องถิ่น”
โดยออกเป็นข้อรียกร้อง 10 ข้อ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1. บุคลากร รพ.สต. สมัครใจถ่ายโอนกว่า 20,000 คน ใน 49 จังหวัด รพ.สต. 3,457 แห่ง ได้อ่านศึกษาประกาศคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และคู่มือแนวทางการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. เข้าใจชัดเจนและเมื่อได้ไตรตรองวิเคราะห์ว่าดีแล้ว จึงได้สมัครใจถ่ายโอนด้วยตนเอง พร้อมลงลายมือชื่อเป็นหลักฐานในแบบแสดงเจตนาสมัครใจถ่ายโอน
ข้อ 2. พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ถือบังคับใช้มากว่า 20 ปีแล้ว และในท้ายแผนฯ ฉบับที่ 2 กำหนดให้ไว้ว่าหากไม่สามารถถ่ายโอน สอน./รพ.สต. ไป อบต./เทศบาล ได้ ก็ให้ถ่ายโอนให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด
และคู่มือแนวทางถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ก็ได้จัดทำเวทีรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้ง 4 ภูมิภาค 5 เวที คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (กกถ.) จึงมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2564 และประกาศถือบังคับใช้เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2564
ข้อ 3. ประกาศราชกิจจานุเบกษา คู่มือแนวทางการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็นไปตามเจตนารมณ์แห่งบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และ พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542
ถึงแม้จะหลังปี 2542 จะมี พ.ร.บ.ฉบับใดประกาศใช้กี่ฉบับก็ตาม หลักการกระจายอำนาจก็ยังคงเป็นไปตามแผนกำหนดขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กฎหมายระบบสุขภาพทั้งหมดไม่มีฉบับใดไปขัดแย้งหรือลบล้างกฎหมายการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ข้อ 4. การถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็นแบบพ่วงบริการ มีความเป็นเอกภาพกว่าการถ่ายโอนไปแบบหน่วยบริการเดี่ยว อันจะทำให้ระบบสุขภาพปฐมภูมิเข้มแข็งขึ้น สามารถเชื่อมโยงระบบสุขภาพระดับทุติยภูมิ และระบบตติยภูมิให้มีศักยภาพ ประชาชนได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง กระทรวงสาธารณสุข และส่วนราชการในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
ยังคงมีอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายการแบ่งกระทรวง ทบวง กรม และในกฎกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยการแบ่งส่วนราชการบริหารภูมิภาค ทั้ง สสจ. และ สสอ. ยังคงมีอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติ
อีกทั้งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ก็ยังคงมีอำนาจหน้าที่ตาม พรบ.ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ประชาชนยังคงสิทธิในการเข้าถึงบริการด้านการแพทย์และการสาธารณสุขของรัฐ ไม่ว่า รพ.สต. จะอยู่ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข หรือสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด
การขึ้นทะเบียนหน่วยบริการสุขภาพปฐมภูมิ ตาม พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ ของ สอน./รพ.สต. ในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด ยังคงสามารถขึ้นทะเบียนได้เหมือนเดิมตามที่กฎหมายระบบสุขภาพปฐมภูมิได้บัญญัติไว้ชัดแจ้งแล้ว ทั้งกระทรวงสาธารณสุข และ สปสช.ยังคงมีอำนาจหน้าที่สนับสนุนองค์การบริหารส่วนจังหวัดในการจัดระบบบริการสุขภาพเพื่อประโยชน์ประชาชน
หาใช่ว่าการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัดแล้ว ระบบสุขภาพปฐมภูมิจะเป็นหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดฝ่ายเดียว ซึ่งในคู่มือแนวทางการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัดก็กำหนดให้มีคณะกรรมการสุขภาพระดับพื้นที่ (กสพ.) เป็นเครื่องมือกลไกในการจัดระบบบริการระดับจังหวัด และราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศกำหนดแนวทางต่างๆ ไว้ในคู่มือแนวทางการถ่ายโอนภารกิจถ่ายโอน รพ.สต. ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด ไว้ชัดเจนและครบถ้วนแล้ว
ข้อ 5. วิวัฒนาการระบบสุขภาพ และโครงสร้างระบบสาธารณสุข ย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย หากแต่รัฐ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ควรต้องมุ่งเน้นการจัดระบบสุขภาพปฐมภูมิให้ประชาชนสามารถพึ่งตนเอง และดูแลสร้างสุขภาพของตนเอง ครอบครับ ชุมชน และสิ่งแวดล้อมได้ โดยต้องมุ่งเน้น Self Care มากกว่า Medical Care ให้การสร้างสุขภาพ นำการซ่อมสุขภาพ ลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศเพื่อลดการเสียดุลการค้า
ข้อ 6. การถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด ไม่ได้ก่อให้เกิดภาระงบประมาณของรับบาลเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด เพราะงบประมาณรายจ่ายใดที่เคยสนับสนุนให้ รพ.สต. ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ก็โยกเปลี่ยนสนับสนุนงบประมาณให้ รพ.สต. ในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด งบประมาณใดที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพ และกระทรวงสาธารณสุข
ไม่เคยถึง รพ.สต. เพื่อใช้บริหารจัดการสร้างระบบสุขภาพก็จะได้ถึง รพ.สต. ถ่ายโอนให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด ตามแนวทางปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิครั้งใหญ่นี้ บนหลักการระบบสุขภาพปฐมภูมิ “สร้างนำซ่อม”
ข้อ 7. ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี นับแต่มีการถ่ายโอน รพ.สต. ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รายงานศึกษา วิจัย มีอยู่มากมาย ทั้งในส่วนของ สวรส. กระทรวงสาธารณสุข กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย รายงานกรรมาธิการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร รายงานกรรมาธิการสาธารณสุข วุฒิสภา สถาบันการศึกษาต่างๆ
รวมทั้งความเห็นและมติในคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ความเห็นของ กพร. และ คปร. ล้วนแล้วแต่สนับสนุนให้มีการถ่ายโอนภารกิจด้านสาธารณสุข ระดับปฐมภูมิ ใน สอน. / รพ.สต. ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งสิ้น ขอเพียงส่วนราชการ และองค์กรที่มีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวข้องมีความจริงใจ
ข้อ 8. การกระจายอำนาจด้านสาธารณสุข โดยการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็นการบูรณาการการกระจายอำนาจที่ดีที่สุด ระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ และกระทรวงสาธารณสุข ระบบสุขภาพปฐมภูมิยังเป็นพวงบริการอยู่ด้วยกันอย่างมีเอกภาพ และสามารถจัดการความเชื่อมโยงกับระบบสุขภาพระดับทุติยภูมิ ระดับตติยภูมิ ขอเพียงกระทรวงสาธารณสุข และองค์กรที่เกี่ยวข้องมองเห็นภาพฉากทัศน์ที่ประโยชน์ประชาชนร่วมกัน
ข้อ 9. คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (กกถ.) โดยอนุกรรมการบริหารแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และคณะทำงานจัดทำร่างคู่มือแนวทางการถ่ายโอนภารกิจให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด ได้จัดทำเวทีพิจารณารับฟังคิดเห็นแล้ว เมื่อปีงบประมาณ 2563-2564 ทั้ง 4 ภูมิภาค จำนวน 5 เวที
โดยมีผู้แทนของกระทรวงสาธารณสุข อยู่ร่วมกระบวนการในทุกขั้นตอน ตั้งแต่ฉบับร่าง จนประกาศราชกิจจานุเบกษาคู่มือแนวทางถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด ออกมาถือบังคับใช้เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2564 หาได้มีการรวบรัดตัดขั้นตอนใดๆ ตามที่กรรมาธิการสาธารณสุข วุฒิสภา เคลือบแคลงสงสัย
ข้อ 10. กรณีมีการระบาดของโรค ไม่ว่าจะเป็นโรคอุบัติใหม่ หรืออุบัติซ้ำ รัฐบาลมีกฎหมาย พรบ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ที่กระทรวงสาธารณสุข สามารถสั่งการสั่งใช้เจ้าพนักควบคุมโรค ให้ยับยั้งควบคุมสถานการณ์โรคติดต่อได้เช่นเดิม โดยในระดับจังหวัดมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานคณะกรรมการโรคติดต่อ และมีนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด เป็นรองประธานฯ
“จึงไม่มีเหตุผลหรือความจำเป็นใดๆ ที่กรรมาธิการสาธารณสุข วุฒิสภา จะกราบเรียนเสนอนายกรัฐมนตรี ยับยั้งการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด การเสนอยับยั้งการเกลี่ยงบประมาณจากกระทรวงสาธารณสุข สนับสนุน รพ.สต. ถ่ายโอนไปสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด โดยไม่รับฟังความเห็นของบุคลากรสาธารณสุข ใน รพ.สต. ถ่ายโอนกว่า 20,000 คน ใน 49 จังหวัด รพ.สต. 3,457 แห่ง ก่อนที่จะมีหนังสือกราบเรียนนายกรัฐมนตรี เพื่อยับยั้งงบประมาณนั้น” แถลงการณ์ ระบุ