เพิ่งมีข่าวน่ายินดีทางเมื่อการรถไฟแห่งประเทศไทยได้ประสบความสำเร็จในการขุดเจาะอุโมงค์รถไฟทางคู่สายยาวที่สุดในประเทศไทย ระยะทาง 5.2 ก.ม. บริเวณบ้านหินลับ อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโครงการรถไฟทางคู่สายตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ หรือคิดเป็นระยะทางในอุโมงค์ทั้งขาขึ้นและขาล่องรวมกว่า 10.4 ก.ม. เป็นการก่อสร้างอุโมงค์รถไฟทั้งหมด 3 อุโมงค์ คือ 1.อุโมงค์หินลับ 5.20 ก.ม. 2.อุโมงค์มวกเหล็ก 0.26 ก.ม. และ3.อุโมงค์คลองขนานจิตร 1.17 ก.ม. บนพื้นที่ จ.สระบุรี-จ.นครราชสีมา ซึ่งอุโมงค์มวกเหล็กและอุโมงค์คลองขนานจิตรได้เจาะทะลุหากันเป็นที่เรียบร้อยไปก่อนหน้านี้
แต่ก่อนหน้าที่อุโมงค์รถไฟบ้านหินลับจะขึ้นแท่นเป็นอุโมงค์รถไฟที่ยาวที่สุดในประเทศไทย “อุโมงค์รถไฟขุนตาน” เคยครองแชมป์นี้มาอย่างยาวนานกว่า 100 ปี วันนี้เราจะพาไปรู้จักกับอุโมงค์รถไฟทั้ง 7 แห่งของไทย โดยเฉพาะอุโมงค์รถไฟขุนตานสุดคลาสสิกแห่งนี้กัน
สำหรับอุโมงค์รถไฟของไทยที่อยู่ในการดูแลของการรถไฟและเปิดใช้งานอยู่ในปัจจุบันมีทั้งหมด 7 แห่ง ได้แก่ “อุโมงค์ช่องเขา” อุโมงค์รถไฟเพียงแห่งเดียวของเส้นทางรถไฟสายใต้ ตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.ร่อนพิบูลย์ อ.ร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช “อุโมงค์เขาพังเหย” อุโมงค์ทางรถไฟลอดเพียงแห่งเดียวของเส้นทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ตัวอุโมงค์อยู่ในพื้นที่ภาคกลาง คือที่ ต.หนองรึ อ.ลำสนธิ จ.ลพบุรี
“อุโมงค์เขาพลึง” อุโมงค์รถไฟในเส้นทางรถไฟสายเหนือ ตั้งอยู่ในพื้นที่ระหว่าง ต.บ้านด่านนาขาม อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ กับ ต.ห้วยไร่ อ.เด่นชัย จ.แพร่ “อุโมงค์ปางตูบขอบ” อยู่ห่างกันกับอุโมงค์เขาพลึง เพียง 2 กิโลเมตร อยู่ในพื้นที่ ต.บ้านด่านนาขาม อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์
“อุโมงค์พระพุทธฉาย” อุโมงค์เพียงแห่งเดียวในเส้นทางรถไฟสายชายฝั่งทะเลตะวันออก ตั้งอยู่ระหว่างสถานีรถไฟบุใหญ่ กับสถานีรถไฟวิหารแดง ต.พระฉาย อ.เมือง จ.สระบุรี “อุโมงค์ห้วยแม่ลาน” อยู่ในเส้นทางรถไฟสายเหนือ ระหว่างสถานีรถไฟบ้านปิน กับสถานีรถไฟผาคัน ต.บ้านปิน อ.ลอง จ.แพร่
และ “อุโมงค์ขุนตาน” ที่ถือเป็นอุโมงค์รถไฟที่คนไทยรู้จักดีที่สุดก็ว่าได้ เพราะเป็นอุโมงค์ทางรถไฟที่ยาวที่สุดในประเทศไทย มีความยาว 1,352.10 เมตร โดยตั้งอยู่ใกล้เคียงกับพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยขุนตาล ระหว่าง อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง กับ อ.แม่ทา จ.ลำพูน
อุโมงค์ขุนตานเริ่มก่อสร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ.2450 ซึ่งถือเป็นยุคแรกๆ ของการรถไฟหลวงแห่งกรุงสยาม ที่มีพลเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยาการ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน เป็นผู้บัญชาการ โดยโครงการก่อสร้างรถไฟสายเหนือดำเนินมาถึงสถานีนครสวรรค์ จากนั้นเมื่อสำรวจเส้นทางที่จะไปถึงเชียงใหม่มีอุปสรรคใหญ่ คือเทือกเขาขุนตาลที่ขวางกั้น
หลังจากสำรวจอยู่เป็นเวลา 2 ปี ก็ตัดสินใจที่จะขุดอุโมงค์ลอดไปอย่างที่ในยุโรปทำกัน โดยมีวิศวกรเยอรมันชื่อ อีมิล ไอเซนโฮเฟอร์ เป็นผู้ควบคุม โดยวางแผนการขุดอุโมงค์จาก2 ด้านให้มาบรรจบกัน ซึ่งต้องใช้การคำนวณที่แม่นยำมาก
อีกทั้งผืนป่าแห่งลำปาง-ลำพูนสมัยนั้นถือเป็นถิ่นทุรกันดารเต็มไปด้วยไข้ป่าและโรคภัย และต้องเดินเท้าปีนป่ายหรือขี่ม้าเข้าไป ส่วนอุปกรณ์ก่อสร้างต้องใช้ช้างและเกวียนบรรทุก บางตอนที่เป็นภูเขาชันก็ต้องใช้รอกกว้านขึ้นไป โดยฐานหัวงานอยู่ที่ลำปาง
การขุดอุโมงค์ก็ต้องใช้แรงงานคน เริ่มด้วยการเจาะรูเล็กๆ โดยใช้สว่านหรือใช้แรงคนตอกสกัด เมื่อมีรูลึกเข้าไปจึงเอาดินระเบิดไดนาไมต์ฝังเพื่อระเบิดให้เป็นอุโมงค์ใหญ่ หากมีหินก้อนใหญ่มากไม่สะดวกในการระเบิดก็ใช้วิธีสุมไฟให้ก้อนหินร้อนจัดแล้วราดน้ำลงไป หินนั้นก็จะแตกเป็นเสี่ยงๆ โดยหินที่เจาะออกมาจากอุโมงค์ขุนตาลมีปริมาณถึง 60,000 ลูกบาศก์เมตร ต้องใช้แรงงานคนในการขนหินเหล่านั้นออกจากถ้ำทั้งหมด
การขุดเจาะนี้ใช้เวลาทั้งสิ้น 8 ปี อุโมงค์จึงทะลุถึงกัน และใช้เวลาอีก 3 ปีเพื่อผูกเหล็ก เทคอนกรีต ทำผนัง และหลังคา รวมเวลาก่อสร้างกว่า 11 ปี สิ้นค่าใช้จ่ายไป 1,362,050 บาท อุโมงค์ขุนตานแล้วเสร็จสมบูรณ์ เปิดให้ขบวนรถไฟผ่านเป็นครั้งแรกในวันที่ 1 มกราคม 2468 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗
เรียกได้ว่ากว่าที่ทางรถไฟสายเหนือโดยเฉพาะในช่วงลำปาง-ลำพูนจะสร้างเสร็จนั้น ก็ต้องใช้แรงกายแรงใจของทั้งผู้คุมงานและคนงาน มีแรงงานจำนวนไม่น้อยที่ต้องเสียชีวิตจากการสร้างอุโมงค์ขุนตาน ทั้งจากการถูกสัตว์ป่าทำร้าย จากไข้ป่า และจากโรคปอดที่มีสาเหตุจากฝุ่นควันในการระเบิดหินและอากาศที่ไม่ถ่ายเทในอุโมงค์
อุโมงค์ขุนตานวันนี้ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในลำปาง นักท่องเที่ยวบ้างก็ขับรถมาชมสถานีและอุโมงค์ขุนตาน บ้างก็เลือกนั่งรถไฟผ่านอุโมงค์กันแบบใกล้ชิด โดยหากได้แวะลงมาเที่ยวชมที่สถานีแห่งนี้ ก็จะได้มากราบไหว้ศาลเจ้าพ่อขุนตาน ชมสถูปกระดูกของมิสเตอร์อีมิลล์ ไอเซ่นโฮเฟอร์ วิศวกรชาวเยอรมันผู้คุมงานก่อสร้างอุโมงค์ และได้ชมบรรยากาศของสถานีรถไฟเล็กๆ ที่น่ารักและเงียบสงบ
อีกทั้งบริเวณปากอุโมงค์ทางด้านซ้ายมือยังมีทางเดินเท้าขึ้นเขาในเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติไปสู่ที่ทำการอุทยานแห่งชาติดอยขุนตาลอีกด้วย
วันนี้อุโมงค์รถไฟขุนตานได้ถูกอุโมงค์รถไฟทางคู่บ้านหินลับทำลายสถิติด้านความยาวไปแล้วเรียบร้อย
แต่ในอนาคตอุโมงค์รถไฟบ้านหินลับก็อาจถูกโค่นแชมป์อีกในเวลาไม่นาน เพราะมีแผนโครงการสร้างอุโมงค์รถไฟที่ยาวกว่านั้นมารอจ่ออยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นโครงการรถไฟสายใหม่ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ที่กำลังเปิดประมูล จะมีอุโมงค์ยาวที่สุดถึง 6,400 เมตร หรือโครงการรถไฟทางคู่ เด่นชัย-เชียงใหม่ ซึ่งออกแบบเสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) มีอุโมงค์ยาวถึง 7,272 เมตร ซึ่งด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้นในปัจจุบัน ก็ทำให้เกิดสถิติใหม่ๆ ที่น่าตื่นเต้นได้อย่างไม่ยากลำบากเหมือนเมื่อก่อนอีกต่อไป ต้องจับตามองกันไว้ให้ดีๆ
#################
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ [email protected] หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline