เผยแพร่: ปรับปรุง: โดย: ผู้จัดการออนไลน์
เมื่อเริ่มเข้าสู่ฤดูฝน ความชุ่มฉ่ำก็เริ่มตามมา ส่งผลให้ต้นไม้ใบหญ้าเขียวขจีและมีสีสันสวยงามของดอกไม้เบ่งบานแต่งแต้มให้บรรยากาศสดชื่นมากขึ้นไปอีก เหมือนอย่างที่ตอนนี้บนอุทยานแห่งชาติภูสอยดาว จ.อุตรดิตถ์ กำลังมี “ดอกหงอนนาค” ผลิดอกสวยงามอยู่
“ดอกหงอนนาค” ได้ชื่อว่าเป็นนางเอกประจำภูสอยดาวในช่วงฤดูฝนเช่นนี้ หากใครได้มีโอกาสมาเชยชมรับรองว่าจะหลงเสน่ห์เป็นแน่ ซึ่งดอกหงอนนาคนี้ มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า “หญ้าหงอนเงือก” หรือ “น้ำค้างกลางเที่ยง” เป็นพืชล้มลุกชนิดหนึ่งที่ออกดอกในฤดูฝน ดอกจะมีทั้งสีม่วงอ่อนหรือม่วงน้ำเงิน สีขาว และสีชมพู ซึ่งค่อนข้างหายาก
ยามเช้าดอกหงอนนาคจะหุบดอก และจะบานเมื่อมีแสงแดด ส่วนกลางของดอกมักมีหยดน้ำติดอยู่ เป็นที่มาของชื่อน้ำค้างกลางเที่ยง นอกจากนั้นก็ยังพบได้บ้างตามภูเขาอื่นๆ เช่น เขาสมอปูน ทุ่งโนนสน เขาใหญ่ เป็นต้น โดยในปีนี้ดอกหงอนนาคบนภูสอยดาว กำลังเริ่มเบ่งบานแล้ว และคาดว่าจะบานเต็มที่ในช่วงราวเดือน ส.ค.-ก.ย. ของทุกปี
นักท่องเที่ยวสามารถชมดอกหงานนาคได้บริเวณลานสนภูสอยดาว ซึ่งจากที่ทำการอุทยานจะต้องเดินเท้าขึ้นไปยังลานสนด้านบนเป็นระยะทาง 6.5 ก.ม. เป็นเส้นทางขึ้นเขาสูงชัน ระหว่างทางจะผ่านน้ำตกภูสอยดาว และ เนินหลัก ๆ 5 เนิน คือ เนินส่งญาติ เนินปราบเซียน เนินป่าก่อ เนินเสือโคร่ง และ เนินมรณะ ใช้เวลาเดินประมาณ 4-6 ชม. ก็จะถึง
โดยลานสนแห่งภูสอยดาวนี้ เป็นป่าสนขนาดใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่ประเทศไทยและสปป.ลาว ตามพื้นดินที่ปกคลุมไปด้วยทุ่งหญ้าจะมีดอกไม้ป่าหลากหลายชนิดออกดอกหมุนเวียนอวดโฉมความงามกันอยู่ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะ “ดอกหงอนนาค” จำนวนมหาศาลบนยอดภูสอยดาวจะพร้อมใจกันเบ่งบานเต็มท้องทุ่ง จนได้ชื่อว่า “ภูสอยดาวเป็นดินแดนแห่งทุ่งดอกหงอนนาคที่ใหญ่ที่สุดและสวยงามที่สุดในเมืองไทย”
ที่ลานสนนี้จะมีทุ่งหงอนนาคให้ชมหลายทุ่ง ทั้งในบริเวณจุดเริ่มต้นของลานสน และที่บริเวณจุดกางเต็นท์ก็มีทุ่งดอกหงอนนาคอีก 2 ทุ่งใหญ่ๆ ให้ได้สัมผัสความงามกันอย่างใกล้ชิด
นอกจากนั้นบนลานสนยังมีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ เป็นวงรอบในระยะทาง 2.28 กิโลเมตร ชมความงามของสนสามใบสูงตระหง่าน ดอกไม้ป่าแปลกตา จุดชมวิวเลาะเลียบผา และ “หลักเขตชายแดนไทย-ลาว” หรือหลักเขต 2 แผ่นดิน ที่อยู่ห่างจากลานกางเต็นท์ทางด้านหลังไปประมาณ 1 กม. ซึ่งภูสอยดาวแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาหลวงพระบางที่กั้นพรมแดนไทยกับลาว บนลานสนจึงมีหลักเขตที่บอกเขตแดนพื้นที่ของไทยและลาวไว้
สำหรับ “อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว” มีพื้นที่ครอบคลุมตำบลม่วงเจ็ดต้น ตำบลนาขุม ตำบลบ้านโคก อำเภอบ้านโคก อำเภอห้วยมุ่น อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ และตำบลบ่อภาค อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก มีลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อนตั้งแต่ทิศเหนือจดทิศใต้ เป็นเทือกเขากั้นพรมแดนระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
เป็นพื้นที่ที่มีสภาพป่าค่อนข้างสมบูรณ์ ปกคลุมไปด้วยป่าธรรมชาติที่สวยงาม เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร ส่วนยอดภูสอยดาวมีความสูง 2,102 เมตร จากระดับน้ำทะเล มีความสูงเป็นอันดับ 4 ของประเทศไทย มีระยะทางจากลานบนภูสอยดาวไปยอดสูงสุดประมาณ 3 กม. แต่มีสภาพเส้นทางที่สูงชันและสมบุกสมบันมาก ต้องใช้ระยะทางเดินไป-กลับ ร่วม ๆ วัน ประมาณ 7-8 ชม. ใครอยากพิชิตต้องขอให้เจ้าหน้าที่นำทางเป็นพิเศษ และต้องมีร่างกายแข็งแรง
นอกจากนั้นแล้ว บนภูสอยดาวก็ยังมีจุดท่องเที่ยวอีกหลากหลาย อาทิ “น้ำตกภูสอยดาว” ตั้งอยู่ใกล้กับที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูสอยดาว บริเวณทางขึ้นลานสนภูสอยดาว เป็นน้ำตกที่มีน้ำไหลตลอดทั้งปี โดยมีทั้งหมด 5 ชั้น แต่ละชั้นมีชื่อไพเราะเรียงรอยต่อกันไปดังนี้ ชั้นที่ 1 ภูสอยดาว, ชั้นที่ 2 สกาวเดือน, ชั้นที่ 3 เหมือนฝัน, ชั้นที่ 4 กรรณิการ์ และชั้นที่ 5 สุภาภรณ์
“น้ำตกสายทิพย์” ตั้งอยู่บนรอยต่อระหว่างป่าดิบชื้นกับป่าสนเขา เป็นน้ำตกขนาดเล็ก มีสายน้ำไหลลดหลั่นลงมาตามชั้นเตี้ยๆ รวม 7 ชั้น ความสูงแต่ละชั้นประมาณ 5-10 เมตร ฤดูฝนน้ำจะไหลแรงมองดูสวยงามมากและมีน้ำไหลตลอด สภาพป่าโดยรอบน้ำตกมีความชุ่มชื้นมาก จึงมีมอสสีเขียวขึ้นปกคลุมทั่วไปตามก้อนหินริมน้ำ เมื่อขึ้นเที่ยวบนลานสนสามใบภูสอยดาวสามารถเที่ยวน้ำตกแห่งนี้ได้ด้วย
ในปีนี้อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว ได้ประกาศปิดการท่องเที่ยวและพักแรมอุทยานแห่งชาติประจำปี เพื่อให้ธรรมชาติได้มีโอกาสฟื้นตัว และป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. – 30 มิ.ย. 64 หรือจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง
ขอขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊กเพจอุทยานแห่งชาติภูสอยดาว – Phu soi dao National Park, เพจสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 11 (พิษณุโลก) และเพจประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
#########################################
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ [email protected] หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline