เผยแพร่:
ปรับปรุง:
โดย: โรม บุนนาค
รถไฟเป็นยานพาหนะที่สำคัญอย่างหนึ่งของโลก ได้รับความนิยมทุกทวีปและทุกประเทศ ทุกวันนี้ก็ยังมีการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง และจะเป็นยานหนะที่เชื่อมโลกได้ไม่แพ้เครื่องบิน ประเทศไทยเราเริ่มให้ความสนใจรถไฟตั้งแต่เมื่อครั้งที่สมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรียแห่งอังกฤษ ได้ทรงส่งขบวนรถไฟจำลองที่มีเครื่องวิ่งได้มาเป็นบรรณาการพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ ที่ลัทธิอาณานิคมได้รุกเข้ามาล้อมประเทศไทย และยังเกลี้ยกล่อมคนไทยที่อยู่ชายของติดกับอาณานิคมของตนให้หันไปนิยมการปกครองของชาวตะวันตก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงมีพระราชดำริที่จะโยงใยคนที่อยู่ห่างไกลให้เข้าใกล้ชิดกับส่วนกลาง ทั้งยังจะช่วยบุกเบิกที่ว่างเปล่าให้ประชาชนได้เข้าใช้ประโยชน์ในเพื่อเศรษฐกิจของประเทศ
ทรงว่าจ้างเซอร์แอนดรู คลาก สำรวจเส้นทางรถไฟกรุงเทพฯ-นครราชสีมาเป็นสายแรก โดยมีทางแยกที่เมืองลพบุรีขึ้นไปเชียงใหม่ และแยกจากเมืองอุตรดิตถ์ไปตำบลท่าเดื่อ ถึงริมฝั่งแม่น้ำโขง ยังมีสายต่อจากเชียงใหม่ไปถึงเชียงรายอีก โดยเริ่มสร้างสายกรุงเทพฯ-นครราชสีมาเป็นสายแรก ซึ่งชาวอังกฤษจากสิงคโปร์ เป็นผู้ประมูลได้ในราคา ๑๒๔,๔๕๒ ชั่ง ๔ บาท (๙,๙๕๖,๑๖๔ บาท)
ต่อมาในวันที่ ๙ มีนาคม ๒๔๓๔ สมเด็จพระปิยมหาราชได้เสด็จพระราชราชดำเนินพร้อมด้วยเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ประกอบพระราชพิธีกระทำพระฤกษ์เริ่มการสร้างทางรถไฟหลวงที่สถานีรถไฟกรุงเทพฯ หัวลำโพง ปัจจุบันการรถไฟแห่งประเทศไทยได้สร้างอนุสรณ์ปฐมฤกษ์รถไฟหลวงอันเป็นประวัติศาสตร์รถไฟไทยนี้ไว้เมื่อปี ๒๕๓๔ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหารกรุณาธิคุณ
ครั้นเมื่อสร้างไปถึงพระนครศรีอยุธยาแล้ว เห็นว่าพอจะเปิดอำนวยความสะดวกให้ราษฎรได้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชินีนาถ จึงเสด็จฯไปทรงประกอบพิธีเปิดเดินรถถึงสถานีพระนครศรีอยุธยาในวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๔๓๙ วันนี้จึงถือว่าเป็นวันเริ่มกิจการรถไฟสายแรกของกรุงสยาม
ต่อมาได้เปิดเดินรถตามระยะทางที่สร้างได้เป็นลำดับ คือ ในวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๔๔๐ เดินรถถึงสถานีแก่งคอย เป็นระยะทาง ๑๒๕ กิโลเมตร วันที่ ๓ มีนาคมต่อมา เดินรถถึงสถานีมวกเหล็ก วันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๔๔๒ ถึงสถานีปากช่อง เป็นระยะทาง ๑๘๐ กิโลเมตร จนในวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๔๔๓ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯพร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชินีนาถและพระบรมวงศานุวงศ์ จึงเสด็จฯไปเปิดทางรถไฟสายนี้อีกครั้งเมื่อสร้างเสร็จตามโครงการไปถึงสถานีนครราชสีมา เป็นระยะทาง ๒๖๕ กิโลเมตร สิ้นค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้น ๑๗,๕๘๕,๐๐๐ บาท เฉลี่ยกิโลเมตรละ ๖๖,๓๖๐ บาท และเมื่อเริ่มเดินรถ มีหัวรถจักร ๑๙ คัน รถตู้โดยสาร ๓๘ คัน และรถบรรทุกสินค้า ๒๑๑ คัน เป็นการเริ่มต้นทางรถไฟสายแรกของราชอาณาจักรสยาม
ปัจจุบันเป็นยุคที่การรถไฟของไทยมีความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก โดยความสำคัญของสถานีกรุงเทพฯได้ย้ายจากหัวลำโพงไปอยู่ที่ “สถานีบางซื่อ” เป็นศูนย์กลางระบบรางของไทย ซึ่งเป็นสถานีขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน และนอกจากจะมีรถไฟทางคู่มากขึ้นเป็นลำดับแล้ว ยังจะมีรถไฟความเร็วสูงที่มีความเร็วกว่า ๒๐๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมงอีก ๔ สาย ได้แก่สายเหนือ กรุงเทพฯเชียงใหม่ สายตะวันออกเฉียงเหนือ กรุงเทพฯ-หนองคาย สายตะวันออก กรุงเทพฯ-ระยอง และสายใต้ กรุงเทพฯปาดังเบซาร์ เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน
มีตัวเลขในวารสารรถไฟสัมพันธ์ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย เผยว่า ระยะเวลาเดินทางของรถไฟความเร็วสูง เมื่อเปรียบเทียบกับรถยนต์ รถไฟทางไกล และเครื่องบิน เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ รถไฟทางไกลจะใช้เวลา ๑๑-๑๔ ชม. รถยนต์ใช้เวลา ๘-๙ ชม. เครื่องบิน รวมเวลาเช็กอิน โหลดสัมภาระ และรอ จะใช้เวลา ๓.๓๐ ชม. แต่รถไฟความเร็วสูงที่ความเร็วไม่เกิน ๓๐๐ กม.ต่อ ชม. จะใช้เวลาเพียง ๓ ชั่วโมงเท่านั้น ถ้าไปถึงขั้นรถไฟความเร็วสูงมาก จะมีความเร็ว ๓๐๑-๕๐๐ กม.ต่อชม. หรือรถไฟความเร็วสูงพิเศษที่มีความเร็ว ๕๐๐-๑,๐๐๐ กม.ต่อ ชม. เครื่องบินคงต้องไปจอดเป็นเครื่องประดับตามที่ต่างๆไปแล้ว