นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมศบค.ชุดใหญ่ ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นครั้งที่ 11 ในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. – 31 พ.ค.64 รวมระยะเวลา 2 เดือน
นอกจากนี้ ศบค.ยังมีมติผ่อนคลายมาตรการในการปรับระดับพื้นที่การแบ่งโซนสีตามสถานการณ์ โดยยกเลิกพื้นที่โซนสีแดงทั้งหมด ซึ่งทำให้ทั้งประเทศจะเหลือเพียงพื้นที่สีส้ม สีเหลือง และสีเขียว
โดยโซนสีส้ม เป็นพื้นที่ควบคุม 9 จังหวัด คือ สมุทรสาคร กรุงเทพฯ สมุทรปราการ สมุทรสงคราม นนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี ตาก และราชบุรี
ส่วนโซนสีเหลือง เป็นพื้นที่เฝ้าระวังสูง 14 จังหวัด คือ กาญจนบุรี, สุพรรณบุรี, พระนครศรีอยุธยา, สระบุรี, นครนายก, ฉะเชิงเทรา, เพชรบุรี, ระนอง, ชลบุรี, ระยอง, ชุมพร, สงขลา, ยะลา และนราธิวาส
โซนสีเขียว เป็นพื้นที่เฝ้าระวัง 54 จังหวัด คือ กำแพงเพชร ชัยนาท นครราชสีมา นครสวรรค์ บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ พังงา เพชรบูรณ์ สุโขทัย สุราษฎร์ธานี อุทัยธานี กระบี่ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น เชียงราย เชียงใหม่ ตรัง นครพนม ชัยภูมิ นครศรีธรรมราช น่าน บึงกาฬ ปัตตานี พะเยา พัทลุง พิจิตร พิษณุโลก แพร่ ภูเก็ต มหาสารคาม มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน ยโสธร ร้อยเอ็ด ลำปาง ลำพูน เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สตูล สุรินทร์ หนองคาย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุดรธานี อุตรดิตถ์ อุบลราชธานี อ่างทอง สระแก้ว จันทบุรี สิงห์บุรี ตราด ปราจีนบุรี และลพบุรี
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวถึงแนวทางการจัดกิจกรรมในช่วงเทศกาลสงกรานต์ว่า กิจกรรมที่สามารถจัดได้ คือ การจัดพิธีสรงน้ำพระ และกิจกรรมอื่นๆ ทางศาสนา การจัดพิธีรดน้ำดำหัวตามรูปแบบที่กระทรวงวัฒนธรรมกำหนด การเดินทางข้ามจังหวัดเพื่อท่องเที่ยว สามารถดำเนินได้ทุกพื้นที่ พร้อมย้ำทุกกิจกรรมให้ยึดแนวทางตามาตรการกระทรวงสาธารณสุข ควรจัดในพื้นที่โล่งแจ้ง หลีกเลี่ยงพื้นที่ในห้องปรับอากาศ
“ขอความร่วมมืองดจัดกิจกรรมรวมกลุ่มสาดน้ำ การแสดงคอนเสิร์ต และกิจกรรมที่สัมผัสกันใกล้ชิด ได้แก่ งดประแป้ง งดการเล่นปาร์ตี้โฟม อย่างไรก็ตาม การจัดกิจกรรมอื่นๆ ให้อยู่ในดุลพินิจของคณะกรรมการโรคติดต่อของแต่ละจังหวัด และ กทม.” โฆษกศบค.กล่าว
พร้อมระบุว่า นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำว่าในช่วงนี้ขอให้ผู้ประกอบกิจการและกิจกรรม ได้พิจารณาพื้นที่สำหรับจัดกิจกรรมช่วงเทศกาลให้ชัดเจน มีความเหมาะสมระหว่างขนาดของกิจกรรมและพื้นที่ โดยต้องมีมาตรการควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเข้มงวด ทั้งการเว้นระยะห่าง ตรวจวัดอุณหภูมิ และสวมหน้ากากอนามัย โดยเฉพาะตลาด ซึ่งนายกรัฐมนตรีมีความกังวลและเป็นห่วงอย่างมาก จึงกำชับให้มีมาตรการควบคุมโรคอย่างชัดเจน
ขณะเดียวกันขอความร่วมมือการงดดื่มสุราในช่วงการท่องเที่ยวเทศกาลสงกรานต์ เพราะแม้จะมีการผ่อนคลายต่างๆ แต่ยังต้องระมัดระวังตนเองอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งการงดดื่มสุราจะช่วยลดอุบัติเหตุได้ด้วย เพราะรัฐบาลไม่อยากเห็นตัวเลขของผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก
โฆษก ศบค. กล่าวว่า ที่ประชุม ศบค.มีมติลดเวลากักตัวสำหรับบุคคลที่เดินทางเข้ามาในประเทศ ทั้งในในกรณีผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว และผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน จากเดิม 14 วันเหลือ 10 วัน ยกเว้นผู้ที่เดินทางจากประเทศที่มีเชื้อโควิดกลายพันธุ์ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ซึ่งยังคงต้องได้รับการกักตัว 14 วันตามเดิม และยังได้ปรับรูปแบบกรณีคนต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศ จากเดิมต้องมีใบรับรองแพทย์แบบ fit to fly และใบรับรอง Covid Free จะกำหนดใช้เฉพาะใบรับรอง Covid Free เท่านั้น ซึ่งจะเริ่มผ่อนคลายตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.นี้
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวด้วยว่า นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้รายงานแผนการรับวัคซีนโควิดต่อที่ประชุม ศบค.ว่า ระยะที่ 1 ช่วง 1 เม.ย.-30 มิ.ย. จะได้รับวัคซีนจากซิโนแวก 2 ล้านโดส ระยะที่ 2 ช่วง 1 ก.ค.-30 ก.ย. จะได้รับวัคซีนจากแอสตร้าเซนเนก้า 26 ล้านโดส คิดเป็นจำนวนผู้ได้รับวัคซีนสะสมประมาณ 20% และระยะที่ 3 ช่วง 1 ต.ค. เป็นต้นไป รับวัคซีนจากแอสตร้าเซนเนก้า อีก 35 ล้านโดส คิดเป็นจำนวนผู้ได้รับวัคซีนสะสมประมาณ 45 ล้านโดส
โดยได้มีการกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับวัคซีน ใน 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ในช่วงวัคซีนมีปริมาณจำกัดจะฉีดให้กับ 1.บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าทั้งภาครัฐและเอกชน 2.บุคคลที่มีโรคประจำตัว ทั้งโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็งทุกชนิด โรคเบาหวาน โรคอ้วน 3.ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป 4.เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโควิด-19 ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย
ส่วนระยะที่ 2 เมื่อวัคซีนมีมากขึ้นและเพียงพอ จะฉีดให้กับ 1.กลุ่มเป้าหมายระยะที่ 1 2. บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขอื่นๆ นอกเหนือจากด่านหน้า 3.ผู้ประกอบอาชีพภาคการท่องเที่ยว 4.ผู้เดินทางระหว่างประเทศ 5.ประชาชนทั่วไป 6.นักการทูต นักธุรกิจต่างชาติ 7.แรงงานในภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ และกลุ่มอื่นๆ
นอกจากนี้ ได้มีการรายงานแผนการกระจายวัคซีนซิโนแวก ในเดือนเม.ย.64 จำนวน 8 แสนโดส ซึ่งจะกระจายไปยังจังหวัดที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและเป็นยุทธศาตร์สำคัญในการควบคุมโรค ใน 18 จังหวัด พร้อมทั้งได้รายงานผู้ได้รับการฉีดวัคซีนสะสม ตั้งแต่ 28 ก.พ.-18 มี.ค. รวมแล้ว 62,941 ราย
นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข กล่าวภายหลังการประชุม ศบค.ว่า ที่ประชุมเห็นชอบแผนการผ่อนคลายมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ที่มีเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะการลดระยะเวลากักกันบุคคล ผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร สาหรับผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว และผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน (ลดระยะเวลากักกันผู้เดินทางโดยทั่วไป) จาก 14 วัน เหลือ 10 วัน
ส่วนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ให้งดการจัดกิจกรรมที่จะทำให้เกิดการรวมตัวของคนจำนวนมาก เช่น สาดน้ำ ประแป้ง และการจัดคอนเสิร์ต แต่อนุญาตให้จัดกิจกรรมในส่วนของการจัดพิธีสรงน้ำพระ การรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ และกิจกรรมอื่นๆ ทางศาสนาได้
ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การพิจารณาขยายเวลาการบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ออกไปอีก เพราะยังมีความจำเป็น เนื่องจากยังต้องใช้ควบคุมการจัดกิจกรรมช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ปีนี้จัดขึ้นไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงยังมีคลัสเตอร์กลุ่มบางแค จึงต้องควบคุมการแพร่ระบาดเพื่อความปลอดภัยของประชาชน
–อินโฟเควสท์ โดย ฐานิสร์ ทองนอก/กษมาพร/รัชดา โทร.02-2535000 ต่อ 317 อีเมล์: [email protected]–