ระดับน้ำ “บึงมาย” อ.ตรอน จ.อุตรดิตถ์ ลดลงจากสภาวะแล้ง พบความมหัศจรรย์ใต้น้ำ “รังไข่กุ้งฝอย” ที่หาดูยาก แหล่งศึกษาวงจรชีวิตกุ้ง
อังคารที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 14.33 น.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บึงมาย หนองน้ำสาธารณะขนาดใหญ่ เนื้อที่กว่า 7,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ ต.ด่านแม่คำมัน, ต.ไผ่ล้อม, ต.ทุ่งยั้ง ของ อ.ลับแล และ ต.ข่อยสูง อ.ตรอน จ.อุตรดิตถ์ เป็นพื้นที่รับน้ำและเก็บกักน้ำเพื่อการเกษตร ด้วยเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ทำให้มีสัตว์น้ำจืด ทั้งกุ้ง หอย ปู ปลา จำนวนมาก และหลากหลายชนิด แต่ด้วยภาวะภัยแล้งส่งผลให้ระดับน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง จากหนองน้ำขนาดใหญ่ ล่าสุดมองเห็นเนินดินและน้ำเป็นแอ่งๆ ชาวบ้านต่างใช้วิกฤติเป็นโอกาสดักจับสัตว์น้ำ เพื่อนำไปขายและแปรรูป สร้างรายได้ช่วงแล้ง ซึ่งจำเป็นต้องลดพื้นที่ทำนาปรัง
จากระดับน้ำในบึงมายที่ลดต่ำ นอกจากชาวบ้านจะมีแหล่งอาหารสร้างงานสร้ายรายได้เสริมแล้ว ยังพบสิ่งที่หาดูได้ยากหรือปัจจุบันแทบไม่มีใครรู้จัก เพราะจะสามารถมองเห็นได้ช่วงที่น้ำลดต่ำเท่านั้น นั่นก็คือ รังไข่กุ้งฝอย ความมหัศจรรย์ใต้น้ำ โดยรังไข่ที่โผล่ให้เห็นเป็นรังไข่ร้าง หรือรังไข่ที่กุ้งกลายเป็นตัวเต็มวัยแล้ว ลักษณะของรังไข่จะคล้ายใยบวบขัดผิว มีรูขนาดเล็กๆ เต็มไปหมด เป็นการพากเพียรของกุ้งที่สร้างรังเพื่อวางไข่ จากรังไข่ 1 รังที่พบจะมีไข่ที่กลายเป็นกุ้งฝอยมากกว่า 1 แสนตัว
นายจำรัส เฟื่องมณี หนึ่งในเกษตรกรที่ยึดอาชีพประมงบึงมาย กล่าวว่า น้ำบึงมายปีนี้ลดต่ำ ทำให้ต้นไมยราบยักษ์ ซึ่งเป็นไม้พุ่มมีความสูงของต้นประมาณ 1-3 เมตร จากที่เคยอยู่ใต้น้ำ โผล่พ้นน้ำให้เห็นเต็มบึงมาย และตามกิ่งของไมยราบยักษ์จะมีก้อนสีคล้ายเปลือกไข่ ขนาดความยาว 1 ฟุต เกาะเต็มไปหมด เมื่อเดินเข้าไปใกล้ๆ พบว่า คือ “รังไข่กุ้งฝอย” ซึ่งหาดูยากและแทบไม่มีใครรู้จัก คนส่วนใหญ่รู้จักแต่กุ้งฝอยหรือกุ้งเต้น แต่ไม่เคยเห็นรังของกุ้งฝอย
ทั้งนี้ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ได้นำไปเป็นสื่อการเรียนการสอน ให้นักศึกษา และคนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้วงจรชีวิตของกุ้งฝอย ซึ่งหากน้ำในบึงมายไม่ลดก็ไม่สามารถมองเห็นรังไข่กุ้งฝอยได้ ตนจับปลากว่า 20 ปี นานๆ จะเห็นสักครั้ง ดังนั้นช่วงนี้มาบึงมายจะเห็นความอัศจรรย์ของสัตว์น้ำ โดยเฉพาะรังไข่กุ้งฝอย รวมไปถึงวิถีชีวิตชาวนาช่วงแล้งที่หันมาจับสัตว์น้ำสร้างรายได้
คุณเห็นด้วยกับข่าวนี้หรือไม่
-
เห็นด้วย
0%
-
ไม่เห็นด้วย
0%