- Line
15 ก.พ. 64 นายเคียง ชำนิ ครูสอนสังคมศึกษาและดนตรีไทย โรงเรียนไกรในวิทยาคม รัชมังคลาภิเษก (นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่น) ผู้อนุรักษ์ภาษาถิ่นสุโขทัยดีเด่น และรางวัลวัฒนคุณาธร ปี 2555 , รางวัลผู้อนุรักษ์มรดกไทยดีเด่น ปี 2562 , รางวัลครูเจ้าฟ้ามหาจักรีระดับจังหวัด ปี 2563 เปิดเผยว่า โรงเรียนไกรในวิทยาคม รัชมังคลาภิเษก อ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัย ได้มีการถ่ายทอดวิชาความรู้ดนตรีมังคละ เอกลักษณ์สุโขทัย มาตั้งแต่ปี 2546 ถึงปัจจุบันก็นาน 17 ปีแล้ว ที่ร่วมอนุรักษ์และสืบสานมรดกอันทรงคุณค่านี้
โดยกลองมังคละ หรือบังคละ หรือปี่กลอง หรือโจ๊กโกร๊ด หรือตุ๊บเก๋ง (ตามแต่ละท้องถิ่นเรียก) ซึ่งเหลือเป็นมรดกทางภูมิปัญญาอยู่ในท้องที่ภาคเหนือตอนล่างหลายจังหวัด จากการสืบค้นก็พบร่องรอยหลักฐานหลายชิ้น ทั้งจากศิลาจารึกและวรรณกรรมสมัยสุโขทัย เช่น ศิลาจารึกหลักที่ 1 ไม่ได้กล่าวถึงกลองมังคละไว้โดยตรง แต่กล่าวถึงกลองชนิดหนึ่งที่มีขนาดไม่เล็ก ไม่ใหญ่ ไม่หนัก ไม่เบา พอที่จะอุ้มหรือสะพายไปได้โดยสะดวก เพราะกลองชนิดนี้จักต้องร่วมบรรเลงอยู่ในขบวนแห่ หรืออยู่ในขบวนรื่นเริง รวมทั้งศิลาจารึกหลักที่ 8 , หนังสือไตรภูมิพระร่วง , ศิลาจารึกวัดอโสการาม และตำนานพระธาตุแช่แห้ง หรือพื้นเมืองน่าน ก็มีการกล่าวถึง
นอกจากนี้ ยังพบหลักฐานจากภาพลายเส้นประกอบจารึกสมัยสุโขทัย ในแผ่นภาพชาดกวัดศรีชุม ภาพที่ 71 ชื่อ “เภรีวาทกชาดก” ปรากฏภาพของเทวดากำลังตีกลอง ไม่เพียงเท่านั้น ภาพชาดกวัดศรีชุมแห่งนี้ ยังเหมือนกับภาพวาดวงกลองมังคละที่เก่าแก่ และเก็บไว้พิพิธภัณฑ์ประเทศเมียนมาร์
แล้วยังมีหลักฐานจากภาพสลักนูนต่ำที่ปราสาทหินพิมาย ศิลปะลพบุรี , หลักฐานจากภาพสลักนูนต่ำที่ปราสาทหินนครวัด ศิลปะขอม , หลักฐานจากภาพสลักนูนต่ำ และเครื่องดนตรีพื้นเมืองของชาวจาม ศิลปะจาม , หลักฐานจากภาพสลักนูนต่ำที่บูโรบูโด (บรมพุทโธ) ศิลปะชวา และหลักฐานจากภาพสลักนูนต่ำที่ซุ้มประตูสาญจี ศิลปะอินเดียโบราณ อีกด้วย
จากข้อมูลพอสรุปได้ว่า กลองมังคละนั้นมีกำเนิดมาจากอินเดียแน่นอน เพราะปรากฏภาพสลักนูนต่ำของดนตรีชนิดนี้ไว้เก่าสุดถึง 2,000 ปี อินเดียเรียกว่า “ปัญจดุริยพาทย์” ต่อมาปักหลักที่ลังกาพร้อมกับพระพุทธศาสนา และกระจายสู่สุวรรณภูมิ เช่น มอญ ชวา จาม ขอม ดังปรากฏในภาพสลักนูนต่ำของแต่ละอารยธรรม แล้วเข้าสู่ประเทศไทยในสมัยสุโขทัย หรือก่อนหน้านั้น โดยจะเข้ามาทางมอญในสมัยพระญาลิไท หรือเข้ามาทางนครศรีธรรมราชในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช หรือเข้ามาทางขอมในสมัยก่อนสุโขทัยก็ได้
กลองมังคละมีหน้าที่รับใช้ศาสนาและพิธีกรรม ที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของผู้คนทุกระดับชั้น ในราชสำนักเรียกว่า “วงปี่ไฉนกลองชนะ” นอกราชสำนักเรียกว่า “กลองมังคละหรือปี่กลอง” สามารถบรรเลงได้ทั้งงานมงคล และงานอวมงคล
ครูเคียง กล่าวอีกว่า สำหรับในภาคเหนือตอนล่าง ดนตรีชนิดนี้ลงหลักปักฐานอยู่ทั่วบริเวณลุ่มน้ำยม และลุ่มน้ำน่าน โดยเฉพาะที่เมืองสุโขทัย สวรรคโลก พิษณุโลก อุตรดิตถ์ และเพชรบูรณ์ มีผู้คนซึ่งสืบเชื้อสายไทเลือง และพูดภาษาถิ่นสุโขทัยเป็นผู้สืบทอด ส่วนใหญ่บรรเลงในงานที่เป็นมงคล แต่ก็มีบ้างที่บรรเลงในงานศพ