นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ด้วยความห่วงใยของ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมช.เกษตรและสหกรณ์ ที่ติดตามเหตุอุทกภัยในพื้นที่เกษตรมาอย่างต่อเนื่อง โดยขณะนี้ปริมาณน้ำลดระดับลงแล้วในหลายพื้นที่ จึงได้สั่งการให้กรมส่งเสริมการเกษตรเร่งดำเนินการสำรวจความเสียหาย และช่วยเหลือเกษตรกรอย่างรวดเร็ว เต็มกำลัง และจากรายงานผลการสำรวจเบื้องต้น (ข้อมูล ณ วันที่ 23 พฤศจิกายน 2565) พบว่า ภาพรวมพื้นที่เกษตรทั่วประเทศได้รับผลกระทบ มีจำนวน 65 จังหวัด พื้นที่การเกษตรคาดว่าจะเสียหายจำนวน 5,595,011.75 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว 3,683,924.50 ไร่ พืชไร่และพืชผัก 1,818,243.50 ไร่ ไม้ผลไม้ยืนต้นและอื่นๆ 92,843.75 ไร่ เกษตรกรได้รับผลกระทบ จำนวน 668,250 ราย ให้ความช่วยเหลือเสร็จสิ้นแล้ว 30 จังหวัด ด้วยงบประมาณท้องถิ่น/ นายอำเภอ/ ผู้ว่าฯ / ปลัดฯ ได้แก่ จังหวัดกำแพงเพชร เชียงใหม่ เชียงราย ตาก น่าน แพร่ เพชรบูรณ์ พิษณุโลก แม่ฮ่องสอน ลำปาง นครนายก อุตรดิตถ์ อุทัยธานี จันทบุรี ตราด ฉะเชิงเทรา ระยอง ชลบุรี ชัยนาท สระบุรี อ่างทอง ขอนแก่น มหาสารคาม บุรีรัมย์ เลย อุดรธานี กาญจนบุรี ราชบุรี ภูเก็ต และจังหวัดสตูล ส่วนจังหวัดอื่นๆ กรมส่งเสริมการเกษตรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งดำเนินการช่วยเหลือโดยเร็วที่สุด
สำหรับการเยียวยาเกษตรกรจะเป็นไปตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 หลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2563 และหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2564 โดยมีอัตราการช่วยเหลือดังนี้ ข้าว 1,340 บาทต่อไร่ พืชไร่และพืชผัก 1,980 บาทต่อไร่ ไม้ผลไม้ยืนต้นและอื่นๆ 4,048 บาทต่อไร่ และไม่เกินครัวเรือนละ 30 ไร่ ทั้งนี้ เกษตรกรต้องขึ้นทะเบียนเกษตรกร และปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตรก่อนเกิดภัย มีพื้นที่เสียหายจริง และอยู่ในพื้นที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือแล้ว
นายเข้มแข็ง กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้ลงพื้นที่เข้าไปมอบปัจจัยการผลิต ทั้งเมล็ดพันธุ์ผัก ต้นพันธุ์ผัก และต้นพันธุ์ไม้ผลไม้ยืนต้น เพื่อเป็นแหล่งอาหารในเบื้องต้นให้แก่เกษตรกร และเชื้อราไตรโคเดอร์มา เพื่อการฟื้นฟูป้องกันเชื้อราสาเหตุโรคพืชสำหรับพื้นที่เพาะปลูกต้นไม้หลังน้ำลด รวมทั้งการให้คำแนะนำเพื่อการดูแลพื้นที่เกษตรหลังน้ำลดอย่างถูกวิธี ซึ่งการปฏิบัติดูแลและการฟื้นฟูพื้นที่เกษตรในแต่ละประเภทมีความแตกต่างกัน เกษตรกรควรศึกษา ทำความเข้าใจ เพื่อให้พื้นที่เกษตรกลับคืนสภาพเดิมโดยเร็ว กระทบกระเทือนต่อต้นไม้ให้น้อยที่สุด หรือการบำรุงรักษาต้นไม้ให้เกิดรากใหม่ แตกใบอ่อนโดยเร็ว รวมทั้งการบริหารจัดการดินอย่างถูกวิธี