กอนช.ประกาศเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก 37 จังหวัด รวมทั้ง กทม. และปริมณฑล 27 ก.ย. –2 ต.ค.
เมื่อวันที่ 26 ก.ย.65 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ประกาศเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในช่วงวันที่ 27 ก.ย. –2 ต.ค.65 ดังนี้
1.เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก และน้ำท่วมขัง ดังนี้
ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน ตาก แพร่ กำแพงเพชร อุตรดิตถ์ พิษณุโลก นครสวรรค์ อุทัยธานี และเพชรบูรณ์
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ชัยภูมิ ขอนแก่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ และศรีสะเกษ
ภาคกลาง จ.สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา นครปฐม สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี รวมทั้ง กทม. และปริมณฑล
ภาคตะวันออก จ.นครนายก สระแก้ว ระยอง จันทบุรี และตราด
ภาคใต้ จ.ระนอง พังงา ภูเก็ต นครศรีธรรมราช และนราธิวาส
2. เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่ง บริเวณแม่น้ำสายหลักและ ลำน้ำสาขา ของแม่น้ำสาย แม่น้ำกก แม่น้ำวัง แม่น้ำยม แม่น้ำน่าน แม่น้ำแควน้อย แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย แม่น้ำเลย แม่น้ำชี ลำน้ำเชิญ ลำน้ำพรหม ลำน้ำพอง แม่น้ำมูล แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำตราด
3. เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่มีปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการเก็บกักน้ำสูงสุด 13 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล แม่มอก กิ่วคอหมา ทับเสลา กระเสียว อุบลรัตน์ ลำตะคอง ลำพระเพลิง มูลบน ขุนด่านปราการชล คลองสียัด นฤบดินทรจินดา และบางพระ รวมทั้งอ่างฯขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีปริมาตรน้ำมากกว่าร้อยละ 80 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่ด้านท้ายน้ำทั่วประเทศ
กอนช. ติดตามการเตรียมความพร้อมรับมือพายุไต้ฝุ่น “โนรู (NORU)“ ที่มีโอกาสเคลื่อนตัวเข้าสู่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการ ดังนี้ กรมชลประทาน ติดตามสภาพอากาศและสภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำ ตลอดจนติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำ เร่งกำจัดวัชพืชสิ่งกีดขวางทางน้ำ วางแผนการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม ด้วยการปรับแผนระบายน้ำจากเขื่อนและประตูระบายน้ำ เพื่อพร่องน้ำและบริหารพื้นที่ลุ่มต่ำ เพื่อลดผลกระทบจากมวลน้ำที่จะไหลหลากมายังบริเวณพื้นที่เสี่ยง อีกทั้งเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับน้ำหลากป้องกันน้ำท่วมให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม ปรับการระบายน้ำ ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ ปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุรับมือน้ำหลาก รวมทั้ง เร่งพร่องน้ำในอ่างฯ ภาคตะวันออกให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม เพื่อรองรับน้ำฝนระหว่างวันที่ 26 – 29 ก.ย.65